จตุพร บุรุษพัฒน์ (ซ้าย)-ประยูร อินสกุล
ปลัดกระทรวงเกษตรฯ ถกปลัดกระทรวงทรัพย์ฯ หาแนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เผยถ้าตกลงไม่ได้ ต้องชงให้คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 เป็นผู้ชี้ขาด ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน
นายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือการแก้ไขปัญหาพื้นที่ทับซ้อนในเขตป่า ประเด็นปัญหาเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตำบลหมูสี อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยนายวิณะโรจน์ ทรัพย์ส่งสุข เลขาธิการสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้อง 2502 ตึกบัญชาการ 2 ทำเนียบรัฐบาล ว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้ร่วมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาเขตพื้นที่ปฏิรูปที่ดินทับซ้อนพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ โดยกระทรวงเกษตรฯ และ ทส. เห็นชอบร่วมกันในการพิจารณาแนวเขตที่ดินทับซ้อนในบริเวณที่มีปัญหา ซึ่งวางกรอบการดำเนินงานร่วมกันเป็นระยะเวลา 30 วัน
อย่างไรก็ตามหากพื้นที่ใดมีการทับซ้อนและไม่สามารถตกลงกันได้ว่าอยู่ในความรับผิดชอบของหน่วยงานใด จะเสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการปรับปรุงแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการ มาตราส่วน 1 : 4000 (One Map) พิจารณาชี้ขาด โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติจะดำเนินการตรวจสอบพื้นที่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน เพื่อให้เกิดความชัดเจนระหว่างทั้งสองหน่วยงานที่จะดำเนินการจัดสรรหรือบริหารจัดการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้อย่างเต็มที่ต่อไป
ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯ โดยสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด เรื่อง ขอความอนุเคราะห์แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาแนวเขตการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร กรณีเป็นที่ดินที่ไม่เคยจัดให้แก่บุคคลใดตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบที่ดินของรัฐ รวม 9 หน่วยงาน ร่วมดำเนินการทำหน้าที่พิจารณาตรวจสอบแนวเขตการถือครองทำประโยชน์ที่ดินที่สำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดจะออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน
โดยให้พิจารณาว่าทับซ้อนหรือรุกล้ำแนวเขตที่ดินซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องหรือไม่ เพื่อให้เกิดความยุติธรรมและโปร่งใส รวมทั้งมอบหมายผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ ตรวจสอบผู้ถือครองและทำประโยชน์
ในเขตปฏิรูปที่ดินที่ต้องเป็นเกษตรกรตัวจริงเท่านั้น และถ้าพิสูจน์ได้ว่าเกิดการกระทำผิด ก็จะดำเนินการทางวินัย
อย่างเคร่งครัด
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดย ส.ป.ก. ขอให้ประชาชนเชื่อมั่นว่า การแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนและการพิจารณาแนวเขตที่ดินเพื่อจัดที่ดิน จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่เกษตรกรและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างแน่นอน