เร่งเครื่องเดินหน้า 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 66/67 คาดไทยเข้าสู่สภาวะลานีญา ก.ค. นี้

  •  
  •  
  •  
  •  
ภาครัฐขับเคลื่อน 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 66/67 ต่อเนื่อง ชี้ต้องปรับแผนจัดสรรน้ำหลังมีการเพาะปลูกนาปรังเกินแผน และขอความร่วมมือประชาชนควบคุมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พร้อมติดตามควบคุมคุณภาพน้ำให้มีค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ชี้ไทยมีโอกาสเข้าสู่สภาวะลานีโญที่ทำให้มีฝนมากช่วงเดือน ก.ค.นี้ โดยเร่งเตรียมพร้อมรองรับสถานการณ์ล่วงหน้าแล้ว
วันที่7 กุมภาพันธ์ 2567  นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ อาคารจุฑามาศ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
                                                                    ไพฑูรย์ เก่งการช่าง
นายไพฑูรย์ เปิดเผยผลการประชุมว่า วานนี้ (6 ก.พ. 67) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 จำนวน 9 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วง ปี 2567 โดยทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการขับเคลื่อนตามมาตรการดังกล่าวให้เป็นไปตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เห็นชอบ ทั้งนี้ สทนช. ได้บูรณาการกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งแบบเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ได้มอบหมาย โดยมีการสำรวจพื้นที่เสี่ยงการขาดแคลนน้ำ โดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภค บริโภค พร้อมลงพื้นที่เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและสภาพปัญหาร่วมกับหน่วยงานและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)
เพื่อเร่งหาแนวทางแก้ไขเฉพาะหน้าในช่วงฤดูแล้งนี้ให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของประชาขนในแต่ละพื้นที่ เช่น การปรับปรุงแหล่งน้ำเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำ การสูบน้ำเติมน้ำต้นทุนสำหรับผลิตประปาให้แก่แหล่งน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย การพัฒนาคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการอุปโภค บริโภค การให้ข้อมูลความรู้แก่ อปท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำในชุมชน เป็นต้น ทำให้ปัญหาความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำในหลายพื้นที่คลี่คลายลง พร้อมหารือถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาระยะยาวเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืนควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ จากกการติดตามแผนและผลการจัดสรรน้ำ ฤดูแล้ง ปี 2566/2567 พบว่า มีการจัดสรรน้ำเกินแผนที่วางไว้ในระดับหนึ่ง โดยมีการจัดสรรน้ำทั่วประเทศไปแล้ว รวม 8,831 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากแผน 7,858 ล้าน ลบ.ม. โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคเหนือ เช่น เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เนื่องจากมีความจำเป็นต้องส่งน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ตอนล่าง รวมถึงอ่างฯบางแห่งที่ต้องระบายน้ำเพื่อช่วยผลักดันน้ำเค็ม เช่น เขื่อนนฤบดินทรจินดา ที่มีการระบายน้ำเพื่อรักษาคุณภาพน้ำในแม่น้ำบางปะกง เป็นต้น ประกอบกับการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งที่เกินจากแผนที่วางไว้ส่งผลให้มีการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น
ปัจจุบันมีการเพาะปลูกนาปรังหรือนารอบที่ 2 เกินแผนไปแล้วประมาณ 1.8 ล้านไร่ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงได้ปรับแผนการใช้น้ำเพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งนี้สอดคล้องกับสถานการณ์ พร้อมกันนี้ ได้มอบหมายให้มีการเร่งรัดสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนและขอความร่วมมือประชาชนในพื้นที่ในการควบคุมการเพาะปลูกช่วงฤดูแล้งนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม ปริมาณการจัดสรรน้ำในขณะนี้ยังคงไม่เกินแผนภาพรวมทั้งฤดูแล้งที่กำหนดปริมาณการจัดสรรน้ำไว้ 16,010 ล้าน ลบ.ม. โดยปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้วคิดเป็น 55% ของแผนรวมทั้งหมด
นายไพฑูรย์ เปิดเผยต่อว่า สำหรับการจัดสรรน้ำในภาคตะวันออกที่แม้ว่าปัจจุบันมีภาพรวมการจัดสรรน้ำน้อยกว่าแผน แต่ยังมีจุดที่ต้องเฝ้าระวังในเรื่องโครงข่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรมในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) สทนช. จึงได้ประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมชลประทาน การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ฯลฯ ให้มีการจัดสรรน้ำให้สอดคล้องกับความต้องการใช้น้ำ โดยคำนึงถึงการเก็บกักน้ำสำรองไว้ด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ สทนช. ยังคงติดตามเฝ้าระวังค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด สทนช. ได้แจ้งเตือนเฝ้าระวัง น้ำทะเลหนุนสูง ช่วงระหว่างวันที่ 9 – 13 ก.พ. 67 แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณป้อมพระจุลจอมเกล้า จ.สมุทรปราการ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่และกระทบต่อค่าความเค็มที่จะเกินมาตรฐาน ทั้งนี้ กรมชลประทานได้มีแผนเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำเค็มในพื้นที่ดังกล่าวแล้ว โดยจะมีการควบคุมคุณภาพน้ำสำหรับผลิตน้ำประปาบริเวณสถานีสูบน้ำดิบสำแลอย่างใกล้ชิด และในส่วนของแม่น้ำบางปะกง ขณะนี้มีการควบคุมความเค็มเป็นระยะตามระยะเวลา
“ปัจจุบันประเทศไทยยังคงอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังแรง อย่างไรก็ตาม จากการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศโดยกรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. พบว่า สภาวะเอลนีโญในประเทศไทยมีแนวโน้มจะกลับเข้าสู่สภาวะเป็นกลางในช่วงประมาณเดือน เม.ย. – มิ.ย. 67 ก่อนจะมีโอกาสเปลี่ยนไปสู่สภาวะลานีญาในช่วงเดือน ก.ค. – ก.ย. 67 ที่จะทำให้มีปริมาณฝนมาก จึงได้มีการเตรียมปรับแผนบริหารจัดการน้ำ เช่น การวางแผนและเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ การเตรียมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่ประทบปัญหาอุทกภัยซ้ำซาก ฯลฯ เพื่อรองรับสถานการณ์ลานีญาที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว