กรมชลประทาน เตรียมรับสถานการณ์ฝนน้อย สั่งทุกโครงการชลประทานบริหารจัดการน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมวางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี เน้นการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้าตามลำดับ ล่าสุดมีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 9,297 ล้าน ลบ.ม. หรือ 43%
รายงานข่าวจากกรมชลประทาน แจ้งถึงสถานการณ์น้ำปัจจุบัน (18 ม.ค.67) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 56,799 ล้าน ลบ.ม. (74% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 16,417 ล้าน ลบ.ม. (66% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)
อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มี ด้วยการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นหลัก รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม และสำรองไว้ใช้ในต้นฤดูฝนหน้าตามลำดับ จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งทั้งประเทศไปแล้วกว่า 9,297 ล้าน ลบ.ม. (43%) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 2,927 ล้าน ลบ.ม. (49%) ปัจจุบันทั้งประเทศมีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 7.44 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 128 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยา มีการเพาะปลูกข้าวนาปรังไปแล้ว 5.22 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 173 ของแผนฯ ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงครึ่งปีแรกอาจมีปริมาณฝนน้อยกว่าค่าปกติ จึงกำชับไปยังโครงการชลประทานโดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางให้ติดตามสภาพอากาศอย่างใกล้ชิด พร้อมนำสถิติฝนที่ผ่านมา มาวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณน้ำ เพื่อวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์และเกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรหันมาทำนาแบบเปียกสลับแห้ง เพื่อเป็นการประหยัดน้ำ ช่วยรักษาระดับน้ำในคลอง ลดการรับน้ำเข้าแปลงโดยไม่จำเป็น ที่สำคัญให้ปฏิบัติตาม 9 มาตการรับมือฤดูแล้งปี 66/67 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติกำหนดอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปตามแผน และเพียงพอไปตลอดช่วงฤดูแล้งนี้