เตือน! ฝนตกหนักภาคใต้ส่งท้าย ปี 66 เหนือ-กลาง-อีสานเสี่ยงขาดแคลนน้ำ ปีหน้าฝนมาช้า

  •  
  •  
  •  
  •  

สท.เตือนช่วงปลายปี 2566 ภาคใต้ฝนตกหนัก สั่งเฝ้าระวัง-เร่งวางแผนบริหารจัดการน้ำลดผลกระทบ ส่วนตอนบนหลายพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง จับมือบูรณาการประสานทุกภาคส่วน ร่วมบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำพื้นฐาน คาดผลกระทบจากสภาวะเอลนีโญอาจทำให้ฤดูฝนในปีหน้าล่าช้า อาจจะมาประมาณช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน 2567

 ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าว่า ในช่วงวันที่ 22-25 ธันวาคม 2566 นี้ จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงจากประเทศจีนตอนล่างเคลื่อนผ่านอ่าวไทยพัดปกคลุมภาคใต้ตอนล่างและประเทศมาเลเซีย ซึ่งจะทำให้ภาคใต้ตอนล่างและภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ และอาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลากในช่วงวันที่ 22-26 ธันวาคม 2566 โดยเฉพาะในพื้นที่ จ.นราธิวาส และจ.ปัตตานี

นอกจากนี้ ยังได้มีการปรับแผนการระบายน้ำจากเขื่อนบางลาง จ.ยะลา โดยในช่วงนี้ให้ระบายเพิ่มขึ้นจากวันละ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) เป็น 14 ล้าน ลบ.ม. เพื่อรองรับปริมาณน้ำฝนที่จะไหลลงอ่างฯ ในช่วงเวลาดังกล่าว และเพื่อไม่ให้กระทบต่อพื้นที่ท้ายเขื่อนปัตตานี รวมทั้งให้เฝ้าระวังระดับน้ำในแม่น้ำต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างฉับพลับและล้นตลิ่งด้วย ซึ่งที่ผ่านมาได้ออกประกาศเตรียมอพยพใน 8 หมู่บ้าน และเตรียมความพร้อมใน 10 หมู่บ้านแล้ว ทั้งนี้ในวันที่ 28 ธันวาคม 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ จ.ปัตตานีและยะลา เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ พร้อมมอบถุงยังชีพเยียวยาให้กับผู้ประสบอุทกภัย และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ด้วย

สำหรับสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำในพื้นที่ภาคใต้นั้น ขณะนี้มีอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำเต็มความจุแล้ว 5 แห่ง คือ อ่างฯคลองหยา อ่างฯคลองแห้ง อ่างฯคลองกะทูน อ่างฯคลองดินแดง และอ่างฯหัวช้าง และอ่างเก็บน้ำอีก 14 แห่ง มีปริมาณน้ำอยู่ในระดับ 80-100% ซึ่งยังต้องเฝ้าระวังด้วย เช่น อ่างฯหาดส้มแป้น อ่างฯบางเหนียวดำ อ่างฯห้วยน้ำใส เป็นต้น โดยได้กำชับให้วางแผนบริหารจัดการน้ำอย่างระมัดระวัง เพื่อให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายอ่างฯให้น้อยที่สุด

 ส่วนพื้นที่ตอนตอนบนของประเทศซึ่งขณะนี้อยู่ในช่วงฤดูแล้ง โดยในหลายพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการขาดแคลนน้ำ ล่าสุดได้มีการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์แล้งที่ อ.วชิรบารมี และ อ.สามง่าม จ.พิจิตร ซึ่งอาศัยแหล่งน้ำใต้ดินเป็นหลักในการอุปโภค บริโภค และประสบปัญหาขาดแคลนน้ำประปาในฤดูแล้งปีนี้ จึงได้เสนอแนวทางในการจัดทำสะดือน้ำเพื่อเติมน้ำลงใต้ดิน   ปรับปรุงระบบประปาหมู่บ้านเดิม และเตรียมเสนอโครงการปรับปรุงระบบประปาใหม่ ร่วมกับการจัดทำระบบกระจายน้ำจากบึงสาธารณะสู่พื้นที่ชุมชน

นอกจากนี้ยังได้คาดการณ์พบพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำในเดือนมกราคม 2567 เช่น อ.อุทุมพรพิสัย จ.ศรีสะเกษ และ อ.ห้วยคด จ.อุทัยธานี รวม 8 หมู่บ้าน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมตาม 9 มาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/67 แล้ว อาทิ การเตรียมรถบรรทุกแจกจ่ายน้ำ การดำเนินการสูบน้ำจากแหล่งน้ำมาสำรองในพื้นที่ และการเชื่อมโยงระบบน้ำจากคลองธรรมชาติมาเก็บในสระเก็บน้ำ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สทนช.จะได้เสนอโครงการขุดบ่อบาดาลเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้พื้นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากที่อยู่นอกเขตชลประทานหรือนอกเขตฝนเพื่อความมั่นคงด้านน้ำในอนาคตด้วย และจากการคาดการณ์ล่วงหน้าพบว่า ผลกระทบจากสภาวะเอลนีโญอาจทำให้ฤดูฝนในปี 2567 มาล่าช้า อาจจะมาประมาณช่วงปลายเดือนพฤษภาคม หรือต้นเดือนมิถุนายน 2567 จึงได้มีการบูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า เพื่อช่วยบรรเทาภัยอันเกิดจากน้ำ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการน้ำทั้งระบบ ทั้งพื้นที่ ๆ อยู่ในเขตและนอกเขตชลประทาน เพื่อให้ประชาชนมีน้ำกินน้ำใช้อย่างพอเพียงและทั่วถึงในทุกภาคส่วน