กรมชลฯ สั่งเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันภาคใต้

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลฯ สั่งเตรียมพร้อมรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลันภาคใต้ หลังจากที่รมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์ในช่วงวันที่ 5 -9 ธ.ค. 66 ภาคใต้มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้ภมีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักในบางแห่ง ขณะที่อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 61,167 ล้าน ลบ.ม. หรือ 80% ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถใช้การได้ 37,225 ล้าน ลบ.ม. 

วันที่ 4 ธันวาคม 2566 ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน ถนนสามเสน ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 สำนักเครื่องจักรกล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักการระบายน้ำ (กรุงเทพมหานคร) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เป็นต้น เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ดร.ทวีศักดิ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (4 ธ.ค. 66) พบว่าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 61,167 ล้าน ลบ.ม. (80% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 37,225 ล้าน ลบ.ม. (71% ของความจุอ่างฯรวมกัน) เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 18,335 ล้าน ลบ.ม. (74% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) มีน้ำใช้การได้ 11,639 ล้าน ลบ.ม. (64% ของความจุอ่างฯ รวมกัน)

จนถึงขณะนี้มีการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2566/67 ทั้งประเทศไปแล้วกว่า 3,538 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 17% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการใช้น้ำไปแล้วประมาณ 670 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 11% ของแผนฯ ทั้งนี้ เนื่องจากช่วงฤดูฝนที่ผ่านมามีปริมาณฝนตกอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำสายหลักเพิ่มมากขึ้น จึงส่งผลดีต่อระบบนิเวศ ทำให้ปัจจุบันค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ควบคุม ไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปาและการเพาะปลูกพืชแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 5 – 9 ธ.ค. 66 ลมตะวันออกพัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้และอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล และภาคตะวันออก ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนเล็กน้อยบางแห่ง ส่วนทางด้านภาคใต้มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ตลอดช่วง ส่งผลให้ภาคใต้มีฝนฟ้าคะนอง และมีฝนตกหนักในบางแห่ง

ในการนี้กรมชลประทาน ได้สั่งการให้สำนักงานชลประทานในเขตพื้นที่ภาคใต้ ให้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด และเตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อรองรับสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน พร้อมดำเนินการตาม 13 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65/66 ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งได้กำชับให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ จัดสรรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเป็นไปตามแผนที่วางไว้

ที่สำคัญต้องสอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและพื้นที่เพาะปลูก ทั้งนี้ ได้เน้นยำให้ปฏิบัติตาม 9 มาตรการรับมือฤดูแล้งปี 2566/67 ตามที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ(กนช.) เห็นชอบอย่างเคร่งครัด ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ และรณรงค์ให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม 67 เป็นต้นไป ตามนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์