“สมศักดิ์”สั่ง สทนช. ทบทวนมาตรการรับมือแล้งเสนอ กนช. ปลายเดือนนี้ รับมือเอลนีโญทวีความรุนแรงถึง ม.ก.ปีหน้า

  •  
  •  
  •  
  •  

“สมศักดิ์” นั่งหัวโต๊ะเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง 66/67  สั่ง สทนช. ทบทวนมาตรการรับมือแล้งเสนอ กนช. ปลายเดือนนี้ รับมือปรากฎการณ์เอลนีโญกำลังปานกลาง จะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงเดือนพฤศจิกายน จนถึงมกราคม 2567 -ขณะที่น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศมีปริมาณ 60,614 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือ 74% ของความจุเก็บกักทั้งหมด

วันที่17 ตุลาคม 2566) นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเตรียมการในการบริหารจัดการน้ำ ปี 2566/2567 โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมชลประทาน กรมทรัพยากรธรณี กรมฝนหลวงและการบินเกษตร การประปานครหลวง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) กองทัพอากาศ เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ ทำเนียบรัฐบาล

นายสมศักดิ์ เปิดเผยว่า ในวันนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำได้ประชุมร่วมกันเพื่อพิจารณาแนวทางเตรียมการในการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง ปี 2566/2567 โดยขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะเอลนีโญกำลังปานกลาง และคาดการณ์ว่าจะมีแนวโน้มที่จะรุนแรงขึ้นในช่วงเดือน พ.ย. 66 – ม.ค. 67 จากนั้นจะมีกําลังอ่อนลงและต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเดือน ก.พ. – เม.ย. 67 อย่างไรก็ตาม เนื่องจากในช่วงปลายฤดูฝนนี้มีปริมาณฝนตกเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ ดีขึ้นกว่าที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ในระดับหนึ่ง

ปัจจุบัน (16 ต.ค. 66) แหล่งน้ำทั่วประเทศมีปริมาณน้ำ 60,614 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) หรือคิดเป็น 74% ของความจุเก็บกัก และปริมาณน้ำใช้การ 36,445 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 63% ของความจุใช้การ ซึ่งในช่วงวันที่ 10-16 ต.ค. 66 มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ รวม 3,595 ล้าน ลบ.ม. ทำให้ปัจจุบัน อ่างฯ ใหญ่ ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำน้อย มีจำนวนลดลงจากเดิม 11 แห่ง เหลือ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนคลองสียัด และจากการคาดการณ์ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างฯ ใหญ่ ณ ช่วงต้นฤดูแล้ง (1 พ.ย. 66) พบว่า จะมีปริมาณน้ำ 55,779 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 79% ของความจุเก็บกัก โดยเป็นปริมาณน้ำใช้การ 32,233 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 68% ของความจุใช้การ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้เมื่อช่วงต้นเดือน ก.ย. 66

รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยอีกว่า จากปริมาณน้ำที่เพิ่มมากขึ้นจากฝนในช่วงท้ายฤดู ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้ สทนช. บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทบทวน (ร่าง) มาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/2567 ทั้ง 9 มาตรการ แบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านน้ำต้นทุน ได้แก่ 1) เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ 2) ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ด้านความต้องการใช้น้ำ ได้แก่ 3) กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกร เตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง 4) บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด 5) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน 6) เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ ด้านการบริหารจัดการ ได้แก่ 7) เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน/องค์กรผู้ใช้น้ำ 8) สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ และ 9) ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน เพื่อให้มาตรการมีความสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ก่อนเสนอในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ครั้งที่ 2/2566 ในวันที่ 26 ต.ค. 66 นี้ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ และเสนอต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามผลการขับเคลื่อนการบริหารศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ปี 2566 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและพื้นที่ภาคกลาง รวมทั้งติดตามการดำเนินการตาม 12 มาตรการฤดูฝน ปี 2566 ซึ่งที่ผ่านมาทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการติดตามการดำเนินงานและรายงานผลเป็นระยะ ทำให้การขับเคลื่อนมาตรการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ โดยได้กำชับให้มีการบริหารจัดการน้ำในช่วงปลายฤดูฝนส่งต่อสู่ฤดูแล้งอย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการบูรณาการความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างเป็นเอกภาพ โดยมีเป้าหมายให้มีปริมาณน้ำเพียงพอในภาพรวมทั้งประเทศภายใต้สภาวะเอลนีโญ

ด้าน ดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเร่งเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือสถานการณ์เอลนีโญในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึงอย่างเต็มที่ โดยจะปฏิบัติตามข้อสั่งการของรองนายกรัฐมนตรีอย่างเคร่งครัด นอกจากนี้ เพื่อเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่สาธารณชนถึงสถานการณ์เอลนีโญและขับเคลื่อนการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน สทนช. จะมีการจัดกิจกรรมเสวนาวิชาการ เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้ที่เป็นประโยชน์ รวมถึงจัดนิทรรศการแสดงการดำเนินงานด้านการบริหารจัดการน้ำของหน่วยงานต่าง ๆ ในช่วงประมาณเดือน พ.ย. นี้