เฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ 6-7 ต.ค.นี้ คาดมีฝนตกหนัก 

  •  
  •  
  •  
  •  

เลขาธิการ สทนช. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำพื้นที่ภาคอีสาน บูรณาการขับเคลื่อนศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เร่งประเมินพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมเพิ่มเติม พร้อมเฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่หลายแห่งมีปริมาณน้ำมากหลังคาดการณ์ฝนยังตกหนักช่วงวันที่ 6-7ต.ค.นี้ กำชับแผนระบายน้ำต้องรัดกุม ไม่ซ้ำเติมน้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ เตรียมกักเก็บน้ำหวังใช้เป็นน้ำต้นทุนรับมือผลกระทบเอลนีโญ

 วันที่ 5 ตุลาคม 2566  ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและเป็นประธานการประชุมศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ สำนักงานชลประทานที่ 7 จ.อุบลราชธานี ว่า จากการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) คาดว่าตั้งแต่วันที่ 6-7 ต.ค.66 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือฝั่งตะวันตก จะมีปริมาณฝนตกมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ยังมีร่องมรสุมพาดผ่านในพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ซึ่งจะทำให้มีปริมาณฝนตกชุกหนาแน่นในพื้นที่ลุ่มน้ำชีและลุ่มน้ำมูล จะทำให้มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเพิ่มขึ้น

ดังนั้นจึงต้องเฝ้าระวังแหล่งน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำมาก ได้แก่ เขื่อนน้ำพุง เขื่อนห้วยหลวง เขื่อนน้ำอูน หนองหาร เขื่อนลำปาว เขื่อนสิรินธร และเขื่อนอุบลรัตน์ โดยเฉพาะหนองหาร เขื่อนลำปาว และเขื่อนอุบลรัตน์ ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษเนื่องจากปริมาณน้ำเกินความจุเก็บกักไปแล้ว ทั้งนี้ภาพรวมของระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำโขงตะวันออกเฉียงเหนือ ลุ่มน้ำชี และลุ่มน้ำมูล ยังอยู่ในเกณฑ์น้ำมากและมีน้ำล้นตลิ่งบริเวณ จ.นครพนม สกลนคร อุดรธานี ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร และอุบลราชธานี โดยหลังจากจากวันที่ 8 ต.ค.66 ปริมาณฝนจะค่อยๆ เบาบางลง  

เนื่องจากการคาดการณ์ฝนในช่วงวันที่ 6-7 ต.ค.นี้ ในพื้นที่ภาคอีสานจะมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นแนวทางการระบายน้ำภายใต้การทำงานของศูนย์ฯบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานติดตามวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำอย่างรัดกุมรอบคอบ และต้องเป็นบูรณาการวางแผนบริหารจัดการน้ำตลอดลุ่มน้ำเนื่องจากมีความคาบเกี่ยวหลายจังหวัด เพื่อไม่ให้ซ้ำเติมพื้นที่น้ำท่วมเดิม ลดผลกระทบต่อประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด

ทั้งนี้ ปริมาณน้ำในลำน้ำชียังมีค่อนข้างมาก ทำให้ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นพื้นที่รวมน้ำที่ไหลผ่านจากลำน้ำมูลและลำน้ำชีได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่สถานี M.7 อ.วารินชำราบ มีแนวโน้มสูงขึ้น จึงได้หารือแนวทางการแก้ไขปัญหา โดยลุ่มน้ำมูลยังมีพื้นที่รับน้ำค่อนข้างมากและได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไม่มากนัก

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำมีประสิทธิภาพสูงสุด ลดผลกระทบน้ำท่วมของ จ.อุบลราชธานี และพื้นที่ลำน้ำชี จึงให้ลุ่มน้ำมูลพิจารณาใช้เขื่อนราษีไศลและเขื่อนหัวนาหน่วงน้ำเพื่อเร่งระบายน้ำจากแม่น้ำชีลงแม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยลดระดับน้ำท่วมของ อ.วารินชำราบ ให้ต่ำลงและช่วยเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้เร็วยิ่งขึ้น โดยในวันพรุ่งนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี จะลงพื้นที่ จ.อุบลราชธานี เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมและเยี่ยมให้กำลังประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้วย

“ส่วนการเพิ่มการระบายน้ำของเขื่อนอุบลรัตน์ ขอให้ประเมินแนวทางการระบายน้ำหลังจากวันที่ ต.ค.ไปแล้วอีกครั้ง เพื่อปรับเกณฑ์การระบายน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ สำหรับเขื่อนลำปาวได้ปรับลดการระบายอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะช่วยเร่งคลี่คลายสถานการณ์น้ำท่วมของ จ.อุบลราชธานี อีกทางหนึ่ง โดยในวันที่ ต.ค.นี้ สทนช.จะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมที่เขื่อนลำปาวเพื่อพิจารณาแนวทางการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน รวมทั้งต้องเร่งประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ให้กับประชาชนได้รับทราบสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งต้องเตรียมกักเก็บน้ำเพื่อใช้เป็นน้ำต้นทุนสำหรับรับมือผลกระทบเอลนีโญด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว

สำหรับพื้นที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยใน จ.อุบลราชธานี มี อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองอุบลราชธานี อ.วารินชำราบ อ.ม่วงสามสิบ อ.ตระการพืชผล อ.เหล่าเสือโก้ก อ.ดอนมดแดง อ.เขื่องใน อ.เดชอุดม และ อ.ตาลสุม ปัจจุบันมีศูนย์พักพิงชั่วคราวใน2 อำเภอ ที่ อ.เมืองอุบลราชธานี และ อ.วารินชำราบ จำนวน 20 จุด มีจำนวนชุมชนที่อพยพทั้งสิ้น 25 ชุมชน 433 ครัวเรือน 1,474 คน โดยสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง หากไม่เกิดฝนตกลงมาซ้ำ