“เศรษฐา” นำทีมลงพื้นภาคเหนือ ไปเยี่ยมชมโครงการอุโมงค์ผันน้ำแม่งัด-แม่กวง เพิ่มน้ำต้นทุนให้ชาวเชียงใหม่-ลำพูน ล่าสุดคืบหน้าแล้วกว่ามีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 80 เผยหากดำเนินการแล้วเสร็จสิ้นจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งน้ำในช่วงฤดูฝนในพื้นที่ชลประทานกว่า 175,000 ไร่
วันที่16 กันยายน 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี พร้อมด้วยนายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรเเละสหกรณ์ และคณะ ลงพื้นที่ไปติดตามความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน และผู้เกี่ยวข้อง ร่วมลงพื้นที่และรายงานผลการดำเนินงาน ณ โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่กวงอุดมธารา อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากรายงานสถานการณ์น้ำในเขตพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่าในปี 2566 มีปริมาณน้อยกว่าปีที่ผ่านมา และปัจจุบันความต้องการใช้น้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำต่างๆยังมีจำกัด กรมชลประทาน จึงได้ดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำอ่างเก็บน้ำแม่กวงฯให้เพียงพอที่จะสนับสนุนการใช้น้ำด้านท้ายอ่างฯได้ตลอดทั้งปี
ทั้งนี้โดยการผันน้ำส่วนเกินที่มักจะทำให้เกิดปัญหาน้ำท่วมในลำน้ำแม่แตงในช่วงฤดูฝน ไปเติมให้กับอ่างเก็บน้ำแม่กวงฯ ช่วยลดปัญหาน้ำท่วมในเขตเมืองเชียงใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการใช้น้ำส่วนเกินในช่วงฤดูฝนให้เกิดประโยชน์อย่างสูงสุด นับเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำและบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน
ปัจจุบันการก่อสร้างโครงการฯ มีความคืบหน้าไปกว่าร้อยละ 80 หากดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเพื่อการเกษตร อุปโภคบริโภค อุตสาหกรรม และรักษาระบบนิเวศ ให้กับอ่างเก็บน้ำแม่กวงฯได้เฉลี่ยปีละประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำในช่วงฤดูฝนของพื้นที่ชลประทานด้านท้ายอ่างฯได้กว่า 175,000 ไร่ ส่วนในฤดูแล้งจะส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้มากขึ้นจากเดิม 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำปิงตอนบนได้ดียิ่งขึ้น เป็นการลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในช่วงฤดูน้ำหลาก ช่วยแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่ท้ายอ่างฯได้เป็นอย่างมาก
จากนั้น นายกรัฐมนตรีพร้อมคณะ ได้เดินทางไปยังศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อติดตามผลการดำเนินงานและศึกษาต้นแบบการพัฒนาพื้นที่ น้ำ ป่า อาชีพ และการใช้ประโยชน์ร่วมกันของชุมชนตามแนวทางพระราชดำริ