“หมอนุ้ย” เจ้าของเพจ หมอนุ้ย และช่อง TikTok doctor nui โพสต์ยืนยันการบริโภคเนื้อไก่ ไม่ได้ทำให้เป็นโรคเก๊าท์ ผู้ที่เป็นเก๊าท์ยังกินไก่ได้ แนะนำให้ควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่พอดี ชี้เป็นเนื้อสัตว์กลุ่มเนื้อขาว โปรตีนสูง ไขมันน้อย แคลลอรี่ต่ำ มีวิตามินและแร่ธาตุ มีเส้นใยละเอียดที่ดีต่อสุขภาพ ย่อยง่าย เผยสาเหตุตัวจริงของการเป็นเก๊าท์มาจาก แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ เบียร์ อาหารที่มีพิวรีนสูง เครื่องในสัตว์อาหารทะเล ประเภทหอย แนะควรบริโภคคือ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน แป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ถั่ว ธัญพืช ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ
แพทย์หญิงศศพินทุ์ วงษ์โกวิท (หมอนุ้ย) ศัลยแพทย์หญิง เจ้าของเพจ หมอนุ้ย และช่อง TikTok doctor nuiz กล่าวว่า เนื้อไก่ เป็นเนื้อสัตว์กลุ่มเนื้อขาว โปรตีนสูง ไขมันน้อย แคลลอรี่ต่ำ มีวิตามินและแร่ธาตุ มีเส้นใยละเอียดที่ดีต่อสุขภาพ ย่อยง่าย กลิ่นคาวน้อย สามารถรับประทานได้ทุกคน เหมาะกับทุกช่วงวัย สำหรับผู้ที่กังวลว่าการบริโภคเนื้อไก่ จะทำให้เป็นโรคเก๊าท์ ขอยืนยันว่า โรคเก๊าท์ ไม่ได้เกิดจากการกินไก่
โรคเก๊าท์ เกิดจากการที่กรดยูริกไปตกผลึกอยู่ตามข้อต่างๆ และเกิดการอักเสบ ทำให้เกิดอาการปวด บวม แดงบริเวณข้ออย่างเฉียบพลัน จึงเรียกว่า เป็นโรคเก๊าท์ การวินิจฉัยโรคเก๊าท์ ไม่ใช่การเจาะเลือดแล้วเจอกรดยูริกสูง แต่จะพบได้จากการเจาะน้ำไขข้อ แล้วเจอการตกผลึกของกรดยูริกในข้อ ซึ่งข้อที่มักจะเกิดการตกผลึกและเป็นเก๊าท์ จะเป็นข้อที่อยู่ในที่เย็น เช่น ข้อนิ้วโป้งเท้า แม้แต่หลังหูก็สามารถเป็นได้
อาหารที่ทำให้กรดยูริกสูงไม่ได้ทำให้เป็นโรคเก๊าท์ แต่อาหารบางประเภทกระตุ้นให้อาการของโรคเก๊าท์กำเริบขึ้นมาได้ อันดับแรก คือ แอลกอฮอล์ โดยเฉพาะ เบียร์ แนะนำให้เลิก อันดับสองคือ อาหารที่มีพิวรีนสูง เช่น เครื่องในสัตว์ อย่างตับ รวมถึงอาหารทะเล โดยเฉพาะอย่างยิ่งหอยทะเล ที่จะมีพิวรีนสูงมาก ส่วนเนื้อไก่แม้จะมีพิวรีนแต่อยู่ในระดับต่ำกว่าอาหารที่กล่าวมา และอันดับสาม แนะนำให้เลี่ยงคือ กลุ่มน้ำตาลอุตสาหกรรม ไฮฟรุกโตสคอร์นไซรัป ซึ่งเป็นน้ำตาลที่อยู่ในน้ำอัดลมและขนมขบเคี้ยว
อย่างไรก็ตามไม่จำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้กรดยูริกสูงทั้งหมด เพราะร่างกายของแต่ละคนมีการตอบสนองที่แตกต่างกัน โดยให้สังเกตตนเองว่า เมื่อรับประทานอาหารพิวรีนสูงชนิดใดแล้วทำให้อาการเก๊าท์กำเริบแนะนำให้เลี่ยงเฉพาะอาหารชนิดนั้น
“สำหรับผู้ที่เป็นเก๊าท์ หากกินไก่แล้วไม่ได้มีอาการกำเริบก็ยังสามารถรับประทานได้ โดยแนะนำให้ควบคุมให้อยู่ในปริมาณที่พอดี”
ทั้งนี้โรคเก๊าท์ เป็นโรคที่ต้องปรับสมดุลกรดยูริกตลอดเวลา อาหารที่ควรบริโภคคือ คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน แป้งไม่ขัดสี เช่น ข้าวกล้อง ถั่ว ธัญพืช ผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอควบคุมน้ำหนักอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้น้ำหนักไม่ไปกดตรงข้อที่เป็นโรคได้