เปิดตัว “โครงการเต็มใจ” ชวนเยาวชนไทยประกวดบริจาคโลหิต ช่วยเหลือผู้ป่วยตั้งเป้าปี 66 ได้ 1 ล้านซีซี

  •  
  •  
  •  
  •  


ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ร่วมมือ กับมูลนิธิดั่งพ่อสอน เปิดตัว “โครงการเต็มใจ” ให้กลุ่มเยาวชนไทยแข่งประกวดทำแคมเปญชวนบริจาคโลหิต คาดจะมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมอย่างน้อย 20 แห่ง มีนิสิตนักศึกษารวมทีมเข้าประกวดกว่า 100 ทีม คาดได้รับโลหิตบริจาคถึง 1,000,000 ซีซี ภายในปี 2566

โครงการเต็มใจ โดยมูลนิธิดั่งพ่อสอนหวังกระตุ้นให้เยาวชนหันมาสนใจการให้และเสียสละเพื่อส่วนรวมผ่านการแข่งขันทำกิจกรรมรณรงค์ให้คนบริจาคโลหิต โดยมีที่ปรึกษาเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยและนักธุรกิจ จิตอาสา (Mentor) จากแบรนด์ต่างๆ 23 แบรนด์ นอกจากได้ช่วยเหลือผู้ป่วยที่รอคอยการใช้เลือดแล้ว ยังได้ปลูกฝังจิตสาธารณะให้กับคนรุ่นใหม่ได้อีกด้วย คาดว่าจะมีมหาวิทยาลัยเข้าร่วมอย่างน้อย 20 แห่ง มีนิสิตนักศึกษารวมทีมเข้าประกวดอย่างน้อย 100 ทีม และได้รับโลหิตบริจาคอย่างน้อย 1,000,000 ซีซี ภายในปี 2566

รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิงดุจใจ ชัยวานิชศิริ ผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติ การรับบริจาคโลหิตของศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ ภาคบริการโลหิตแห่งชาติ โรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ จะได้รับโลหิตมากกว่า 200,000 ยูนิต ต่อเดือน นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโรค COVID-19 สถานการณ์โลหิตยังคงขาดแคลนอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ภาพรวมการบริจาคโลหิตทั่วประเทศลดลง ส่งผลให้ปริมาณโลหิตสำรองลดลงอย่างต่อเนื่อง โรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศขาดแคลนโลหิตสะสมเป็นระยะยาวนาน

เนื่องจากปัจจุบันได้รับโลหิตทั้งประเทศเพียง 150,000-160,000 ยูนิต จึงต้องการมีรณรงค์ให้บริจาคโลหิตเป็นประจำต่อเนื่องทุก 3 เดือน เพื่อให้มีโลหิตเพียงพอสำหรับผู้ป่วยทั่วประเทศ ทางศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ เห็นว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการบริจาคโลหิตเป็นเรื่องจำเป็น เนื่องจากยังไม่มีสารประกอบ ชนิดใดสามารถทดแทนโลหิตได้อย่างสมบูรณ์ และยังมีผู้ป่วยที่รอรับการรักษาอีกเป็นจำนวนมาก ดังนี้

• กลุ่มผู้ป่วยโรคเลือด ร้อยละ 23 อาทิ โรคธาลัสซีเมีย โรคโลหิตจาง และโรคเกล็ดเลือดต่ำ จำเป็นต้องรับโลหิตครั้งละ 1-2 ยูนิต ทุก 3-4 สัปดาห์ หากไม่ได้รับโลหิตผู้ป่วยจะมีภาวะซีด อ่อนเพลีย มีปัญหาในการดำรงชีวิต
• กลุ่มผู้ป่วยผ่าตัดใหญ่ ร้อยละ 77 ที่ต้องใช้โลหิตจำนวนมาก และเร่งด่วน อาทิ ผู้ป่วยที่เกิดภาวะสูญเสียโลหิตเฉียบพลัน อุบัติเหตุ เสียเลือดหลังคลอดบุตร ฯลฯ การรักษาผู้ป่วยกรณีดังกล่าว ต้องมีโลหิตสำรองไว้ระหว่างการผ่าตัด 2-3 ยูนิต ในกรณีที่มีอาการรุนแรง 5-10 ยูนิต ต้องขอเบิกโลหิตสำรองให้เพียงพอ ถ้าโลหิตไม่เพียงพอต้องเลื่อนการผ่าตัด อาจเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย ถึงชีวิตได้

ดังนั้นจึงได้ทำความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินงานในครั้งนี้ อาทิ การจัดให้มีกิจกรรม Open House เปิดสำรวจเส้นทางโลหิต ให้กับกลุ่ม Mentor อีกทั้งยังเปิดรอบพิเศษ สำหรับทีมนิสิตนักศึกษาที่เข้าร่วมประกวด ได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้และเยี่ยมชมฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานบริการโลหิต เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจและสามารถนำองค์ความรู้ไปเผยแพร่และเชิญชวนให้คนมาบริจาคโลหิตได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังได้ช่วยประสานงานไปยังโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องกว่า 200 แห่ง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคณะทำงาน

ด้านนายณัฐวรรธน์ ภรนรา ประธานมูลนิธิดั่งพ่อสอน  กล่าวว่า โครงการเต็มใจ เป็นหนึ่งในโครงการการสร้างคนของมูลนิธิดั่งพ่อสอน โดยในครั้งนี้เลือกที่จะทำกับกลุ่มเยาวชนเพราะมองเห็นว่าการปลูกฝังเยาวชนเป็นเรื่องสำคัญ สังคมจะดีได้ ก็ด้วยมีกลุ่มเยาวชนเป็นกำลังหลักที่จะช่วยพัฒนาสังคมทั้งในช่วงเวลานี้และอนาคต การให้เด็กๆ ได้รู้จักการทำงานเพื่อส่วนรวม และยังก่อให้เกิดประโยชน์กับตนเองด้วยนั้นเป็นเรื่องสำคัญ และทางมูลนิธิฯ เองก็ตั้งใจจะจัดโครงการเต็มใจเป็นประจำทุกปี เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่นายวรสรวง สมัตถพันธุ์ ประธานโครงการเต็มใจ ได้กล่าวถึงที่มาของโครงการว่า  ภายใต้การทำงานโครงการเต็มใจ ยังมี “กิจกรรมกำลังใจ” ซึ่งเป็นการนำอาหารและเครื่องดื่มไปมอบเป็นกำลังใจให้บุคลากรทางการแพทย์และผู้บริจาคโลหิต ทั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้คนทั่วไปได้ร่วมสมทบทุนซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหาร และอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายได้นำมาสมทบทุนโครงการเต็มใจ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของโครงการในด้านต่างๆ

โครงการเต็มใจเป็นโครงการประกวดกิจกรรมรณรงค์บริจาคโลหิต ในกลุ่มเยาวชน ระดับอุดมศึกษา ซึ่งนิสิตนักศึกษาจะได้ลงมือทำทุกขั้นตอนของแคมเปญ เริ่มตั้งแต่ออกแบบ การสร้างช่องทางสื่อสาร การลงพื้นที่ทำกิจกรรมรณรงค์ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับบุคคลที่สนใจบริจาคโลหิตให้กับทีม ทั้งนี้ทางโครงการเต็มใจ ได้รับความร่วมมือจาก Mentor ซึ่งเป็นนักธุรกิจจิตอาสาภายใต้โครงการพัฒน์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการ SMEs เข้ามาเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำด้านการตลาด สนับสนุน ส่งเสริม รวมถึงช่วยเหลือทีมนิสิตนักศึกษา

สำหรับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย รางวัลยอดโลหิตสูงสุด ประเภทมหาวิทยาลัย รางวัลยอดโลหิตสูงสุด ประเภททีม และรางวัลแคมเปญยอดเยี่ยมแห่งปี แต่ละประเภทจะได้รับถ้วยสันโตสะอาชาไนย เกียรติบัตรเชิดชูความสามารถ ส่วนรางวัลประเภททีม และรางวัลแคมเปญยอดเยี่ยมแห่งปี จะได้รับรางวัลพิเศษ เป็นทริปท่องเที่ยว ประเทศเกาหลีใต้ 5 วัน 3 คืน

โครงการเต็มใจ เป็นโครงการเพื่อสังคม นอกจากจะปลูกฝังแนวคิดด้านจิตสาธารณะให้กับกลุ่มเยาวชนแล้วยังได้สร้างประโยชน์ส่วนรวม ช่วยให้มีปริมาณโลหิตที่สม่ำเสมอ สามารถส่งต่อเพื่อนำไปรักษาผู้ป่วยได้ทันท่วงที อีกทั้งเชื่อมโยงการให้คุณค่ากับบุคลากรทางการแพทย์และกลุ่มผู้บริจาคโลหิตอีกด้วย