กอนช.ถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปี 66 รองรับฝนทิ้งช่วงกลางปี

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช. เร่งหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช. ติดตามสถานการณ์เอลนีโญช่วง มิ.ย. – ก.ค. 66 อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมรับมือฝนทิ้งช่วงกลางปี หลังจากที่จะมีการประกาศเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2566 คาดปีนี้มีส่วงนคล้ายคลึงกับปี 2544 และ ปี 2552 

ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า สทนช. ได้มีการประชุมประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำร่วมกับผู้แทนจากหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์น้ำและวางแผนเตรียมการรองรับถานการณ์ฤดูฝนปี 2566 ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศเข้าสู่ฤดูฝนในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งคาดการณ์ว่า ปีนี้ปริมาณฝนจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 5 มีโอกาสที่ฝนทิ้งช่วงในกลางเดือนมิถุนายน-กลางกรกฎาคม 2566

     อย่างไรก็ตาม อาจเกิดพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย จำนวน 1-2 ลูกในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งลักษณะอากาศและปริมาณฝนในปีนี้จะมีความคล้ายคลึงกับปี 2544 และ ปี 2552
สำหรับแผนการจัดสรรน้ำของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ช่วงฤดูฝนปี 2566 มีแผนทั้งสิ้น 14,851 ล้าน ลบ.ม.
ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2565 โดย 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์มีแผนการจัดสรรน้ำ 5,500 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันจัดสรรน้ำไปแล้ว 51 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็น 1% ของแผนจัดสรรน้ำฤดูฝน
       ทั้งนี้ สทนช.ได้เน้นย้ำแผนบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ที่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน เพื่อเก็บกักน้ำปริมาณน้ำฝนในช่วงต้นฤดูไว้ให้มากที่สุด นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ติดตามแผนปฏิบัติการส่งน้ำเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา โดยเริ่มที่พื้นที่ทุ่งบางระกำจะเริ่มส่งน้ำเข้าพื้นที่วันที่ 1 เมษายน 2566 เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวและใช้พื้นที่รับน้ำได้ในช่วงกลางเดือนสิงหาคม และพื้นที่ลุ่มต่ำเจ้าพระยา 10 ทุ่ง เริ่มส่งน้ำเข้าพื้นที่ 1 พฤษภาคม 2566 สามารถเก็บเกี่ยวและใช้พื้นที่รับน้ำได้ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2566
“การประเมินสถานการณ์และการบริหารจัดการน้ำช่วงฤดูฝนปี 2566 นี้ จะใช้ค่าปริมาณน้ำฝนคาดการณ์ต่ำสุดประกอบการจัดทำเกณฑ์บริหารจัดการน้ำ เพื่อรองรับสถานการณ์เอลนีโญในช่วงฤดูฝนนี้ โดยเน้นย้ำแผนบริหารจัดการน้ำให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด และมีน้ำใช้เพียงพอในทุกพื้นที่ นอกจากนี้ ยังเร่งติดตามการตรวจสอบความพร้อมและการซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์ของหน่วยงานต่าง ๆ  ตาม 12 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 2566 รวมถึงติดตามสถานการณ์การเพาะปลูกพืชโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมของ GISTDA ส่งให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุก 15 วัน เป็นข้อมูลในการประเมินและติดตามพื้นที่เสี่ยงแล้งในช่วงของฝนทิ้งช่วงและพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม เพื่อป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนล่วงหน้าได้”ดร. สุรสีห์ กล่าว