อธิบดีกรมฝนหลวง จับมือผู้ว่าฯเชียงใหม่ ระดมเครื่องบิน-กำลังพลแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือช่วงวันหยุดยาวเทศกาลวันวันสงกรานต์ ล่าสุดต้องใช้
วิธีโปรยน้ำและน้ำแข็งแห้งด้วยเครื่องฉีดพ่นนสเปรย์ฉีดน้ำแรงดันสูง หลังตรวจพบความชื้นสัมพัทธ์ไม่เอื้อต่อการทำฝนหลวง
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 14 เมษายน 2566 นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เปิดเผยว่า ตามที่กรมฝนหลวงและการบินเกษตรได้มีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เรื่องการประยุกต์ใช้อากาศยานกรมฝนหลวงและการบินเกษตรสำหรับพ่นละอองน้ำแรงดันสูงเพื่อควบคุม และบรรเทาฝุ่นละออง PM 2.5 โดยเป็นการปรับปรุงอุปกรณ์ท่อโปรย (Air scoop) ติดตั้งบนอากาศยานชนิด CASA และ CN-235 พร้อมติดตั้งเครื่องพ่นสเปรย์ฉีดน้ำแรงดันสูง เพื่อช่วยบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในพื้นที่ภาคเหนือที่ได้รับผลกระทบ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ที่ผ่านมานั้น
ในช่วงวันหยุดยาวเทศกาลสงกรานต์นี้ ทางกรมฝนหลวงฯ ยังคงปฏิบัติภารกิจกันอย่างต่อเนื่อง โดยจากการตรวจวัดสภาพอากาศช่วงวันที่ 13-16 เมษายน 2566 พบว่า ภาคเหนือยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป เนื่องจากอิทธิพลของหย่อมความกดอากาศต่ำเนื่องจากความร้อนปกคลุม รวมไปถึงความชื้นสัมพัทธ์ที่ยังคงมีค่าค่อนข้างต่ำและเป็นอุปสรรคต่อการทำฝน ซึ่งจากค่าความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศที่มีค่าค่อนข้างต่ำและไม่เอื้อต่อการปฏิบัติการฝนหลวง
ทั้งนี้กรมฝนหลวงฯ โดยศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีเครื่องบินประจำการรวม 5 ลำ เลือกวิธีการดัดแปรสภาพอากาศโดยการ โปรยน้ำและน้ำแข็งแห้ง ซึ่งมีแผนการบินเพื่อโปรยน้ำด้วยเครื่องฉีดพ่นน้ำแรงดันสูง วันละไม่ต่ำกว่า 3 เที่ยวบิน ปริมาณน้ำ 4,900 ลิตร โดยใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ชนิด CN 1 ลำ และเครื่องบินขนาดกลางชนิด CASA 1 ลำ แผนการบินโปรยน้ำแข็งแห้ง วันละ 4 เที่ยวบิน ใช้ปริมาณน้ำแข็งแห้งประมาณ 2,000-4,000 กิโลกรัม โดยเครื่องบินขนาดกลางชนิด CASA 2 ลำ เพื่อลดอุณหภูมิชั้นอุณหภูมิผกผันให้อากาศระบายได้ดีมากขึ้น และยังมีเครื่องบินที่ Stand by ภาคพื้น เพื่อใช้สำหรับเตรียมความพร้อมบินปฏิบัติการฝนหลวงหากสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลงระหว่างวัน และเข้าเงื่อนไขการปฏิบัติการฝนหลวง
นายสุพิศ กล่าวอีกว่า การปฏิบัติภารกิจช่วยบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองในช่วงวันหยุดยาวนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้รับความอนุเคราะห์จากนายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การสนับสนุนการดำเนินการของกรมฝนหลวงฯ โดยศูนย์ควบคุมการบินเชียงใหม่ อำนวยความสะดวกในด้านการจราจรทางอากาศ การท่าอากาศยานเชียงใหม่ อำนวยความสะดวกในเรื่องหลุมจอดเครื่องบิน ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.เชียงใหม่ สนับสนุนกำลังพลปฏิบัติงานภาคพื้นในการจัดเตรียมสารฝนหลวงและนำขึ้นเครื่องบิน และสนับสนุนน้ำที่ใช้ในการโปรย รวมถึงยังมีหน่วยงานที่สำคัญร่วมสนับสนุนภารกิจพิเศษนี้ ได้แก่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สนับสนุนน้ำแข็งแห้งไม่น้อยกว่า 30 ตัน และกรมชลประทาน สนับสนุนรถบรรทุกเพื่อการขนส่งสารฝนหลวงและน้ำแข็งแห้งอีกด้วย
สำหรับในเช้าวันนี้ (14 เม.ย. 66) หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ วางแผนปฏิบัติการบินที่ 1 ด้วยเครื่องบิน CN จำนวน 1 ลำ โปรยน้ำจำนวน 2,000 ลิตร ที่ระดับความสูง 7,500 ฟุต บริเวณ อ.แม่จัน – อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย ปฏิบัติการบินที่ 2 ด้วยเครื่องบิน CASA จำนวน 1 ลำ โปรยน้ำ 900 ลิตร ที่ระดับความสูง 7,500 ฟุต บริเวณ อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน ปฏิบัติการบินที่ 3 ด้วยเครื่องบิน CASA จำนวน 1 ลำ โปรยน้ำแข็งแห้ง 1,000 กิโลกรัม ที่ระดับความสูง 5,500 ฟุต บริเวณ อ.เชียงคำ จ.พะเยา ปฏิบัติการบินที่ 4 ด้วยเครื่องบิน CASA จำนวน 1 ลำ โปรยน้ำแข็งแห้ง 1,000 กิโลกรัม ที่ระดับความสูง 6,000 ฟุต บริเวณ อ.เมืองฯ จ.พะเยา และปฏิบัติการบินที่ 5 ด้วยเครื่องบิน CN จำนวน 1 ลำ ต่อเนื่องในช่วงบ่ายเวลา 13.30 น. โปรยน้ำ จำนวน 2,000 ลิตร ที่ระดับความสูง 9,000 ฟุต บริเวณ อ.สะเมิง – อ.แม่วาง จ.เชียงใหม่ โดยมีพื้นที่เป้าหมายช่วยเหลือบริเวณพื้นที่ประสบปัญหาหมอกควันและไฟป่า จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา และ จ.เชียงใหม่
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติภารกิจบรรเทาปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองด้วยวิธีดังกล่าว ผลปฏิบัติการเมื่อวานนี้ (13 เม.ย. 66) จากการช่วยเหลือบริเวณ อ.เมือง จ.เชียงราย อ.ปาย จ.แม่ฮ่องสอน และ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ พบว่า ค่าฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยที่เวลา 16.00 น. มีค่าเหลือ 180 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร, 96 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ 107 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามลำดับ และจากภาพถ่ายดาวเทียมยังพบว่า หลังปฏิบัติการพบเมฆก่อตัวขึ้นเล็กน้อย และมีฟ้าหลัวปกคุลมทั่วไป
สำหรับภารกิจการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรและพื้นที่ลุ่มรับน้ำ กรมฝนหลวงฯ โดยหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงทั่วทุกภูมิภาคยังปฏิบัติการเป็นประจำทุกวันเช่นกัน โดยเมื่อวานนี้หลังบินปฏิบัติการทำให้มีฝนตกบริเวณพื้นที่การเกษตรบางส่วนของ จ.สกลนคร อุดรธานี ตราด นครราชสีมา สุราษฎร์ธานี และ จ.พังงา เติมน้ำต้นทุนให้เขื่อนรัชประภา อ่างเก็บน้ำห้วยทรายสว่าง อ่างเก็บน้ำห้วยคำบากน้อย อ่างเก็บน้ำห้วยคำ อ่างเก็บน้ำห้วยซวง และอ่างเก็บน้ำห้วยก้านเหลือง ทั้งนี้พี่น้องประชาชน พี่น้องเกษตรกร สามารถติดต่อขอรับบริการฝนหลวงได้เป็นประจำทุกวันที่ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงประจำภูมิภาค อาสาสมัครฝนหลวงในพื้นที่ หน่วยงานอำเภอ-จังหวัด ช่องทางโซเชียลมีเดีย @drraa_pr และหมายเลขโทรศัพท์ 02-1095100 ต่อ 410