ผู้นำ 4 ชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ประกาศเจตนารมณ์ “ปฏิญญาเวียงจันทน์”เร่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำและความยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง

  •  
  •  
  •  
  •  

ผู้นำ 4 ชาติสมาชิกลุ่มน้ำโขงตอนล่าง “ไทย- สปป.ลาว- กัมพูชา-เวียดนาม” ร่วมประกาศเจตนารมณ์  “ปฏิญญาเวียงจันทน์” หวังขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาลุ่มน้ำโขงตอนล่างภายใต้กรอบแนวทางการพัฒนานวัตกรรมและความร่วมมือเพื่อความมั่นคงด้านน้ำและความยั่งยืนของลุ่มน้ำโขง

วันที่ 5 เมษายน 2566  ได้มีการประชุมสุดยอดผู้นําลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 4 ของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ณ ศูนย์ประชุมแห่งชาติลาว เวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)  โดย ดร.สุรสีห์  กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุมในครั้งนี้

ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยประชุมระดับนายกรัฐมนตรี ร่วมกับผู้นำรัฐบาลจากประเทศสมาชิกอีก 3 ประเทศ ได้แก่ นายสอนไซ สีพันดอน นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สมเด็จอัครมหาเสนาบดีเดโชฮุน เซน นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา และนายฝ่าม มิงห์ จิ๋งห์ นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ซึ่งประเทศไทยได้กล่าวแสดงความยินดีที่สมาชิกทุกประเทศรับรองปฏิญญาเวียงจันทน์ ค.ศ. 2023 ร่วมกัน เพื่อแสดงเจตนารมณ์เชิงนโยบายของประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยมุ่งเน้นการดําเนินงานตามพันธกรณีของความตกลง ว่าด้วยความร่วมมือเพื่อการพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงอย่างยั่งยืน

สุรสีห์  กิตติมณฑล

ทั้งนี้เพื่อพัฒนาและต่อยอดผลการดำเนินงานตามที่ประเทศสมาชิกได้เห็นชอบร่วมกันจากผลการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่างตลอด 3 ครั้งที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2553 ซึ่งพบว่า มีความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องในการมุ่งสู่เป้าหมายร่วมกันในการจัดการความท้าทายทางสิ่งแวดล้อมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การส่งเสริมการอนุรักษ์ การใช้ และการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน ซึ่งจะช่วยต่อยอดจุดแข็งของประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงที่มีความหลากหลายทางชีวภาพและความหลากหลายทางวัฒนธรรม

โดยอาศัยกลไกวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการเติบโตด้านเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดดและทั่วถึง บนฐานการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งจะช่วยพัฒนาลุ่มแม่น้ำโขงให้เกิดความยั่งยืน โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของประชาชน ความมั่นคงทางอาหาร น้ำ พลังงานและสิ่งแวดล้อม นวัตกรรมเพื่อการบริหารจัดการการดำเนินงานร่วมกัน ภายใต้การพัฒนาเชิงเศรษฐกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและมีธรรมาภิบาล

ขณะเดียวกัน ประเทศไทยเน้นย้ำถึงความพร้อมในการสนับสนุนความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและกรอบความร่วมมือที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ อาทิ อาเซียน ความร่วมมือแม่น้ำโขง – แม่น้ำล้านช้าง ความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ความร่วมมือลุ่มน้ำโขง – สาธารณรัฐเกาหลี หุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง – สหรัฐฯ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี – เจ้าพระยา – แม่โขง รวมถึงผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้อง โดยใช้จุดเด่นจากความร่วมมือในกรอบต่าง ๆ เพื่อเติมเต็มซึ่งกันและกันในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนด้วย

“ในการประชุมครั้งนี้ฝ่ายไทยยังได้หารือทวิภาคีร่วมกับ มาดามบุญคำ วรจิต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในประเด็นความก้าวหน้าของการปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการร่วม (Joint Action Plan) โครงการไฟฟ้าพลังน้ำ และความไม่สมบูรณ์ของข้อมูลในการดำเนินกระบวนการหารือล่วงหน้าของโครงการไฟฟ้าพลังน้ำ ซึ่งผลการหารือได้รับการตอบรับที่ดีจาก สปป.ลาว” ดร.สุรสีห์ กล่าว