กรมชลประทาน บริหารจัดการน้ำโค้งสุดท้ายก่อนสิ้นสุดฤดูแล้งปี 2566 อย่างเข้มงวด ล่าสุดสถานการณ์น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 48,375 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 63% ของความจุอ่างฯ เป็นน้ำใช้การได้ 24,433 ลบ.ม. มั่นใจเพียงพอที่จะสนับสนุนทุกกิจกรรมของการใช้น้ำไปจนตลอดฤดูแล้งนี้
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า สถานการณ์น้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ ปัจจุบัน (2 เม.ย.66) มีปริมาณน้ำรวมกัน 48,375 ล้านลูกบาศก์เมตร (ล้าน ลบ.ม.) หรือ 63% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 24,433 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักของลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 14,864 ล้าน ลบ.ม. หรือ 60% ของความจุอ่างฯ รวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 8,168 ล้าน ลบ.ม.
ประพิศ จันทร์มา
ในส่วนของการเพาะปลูกข้าวนาปรัง ได้มีการวางแผนไว้ทั้งประเทศประมาณ 10.42 ล้านไร่ ปัจจุบัน (2 เม.ย.66) เพาะปลูกไปแล้ว 10.14 ล้านไร่ หรือ 97% ของแผนฯ เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาวางแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังไว้ 6.64 ล้านไร่ เพาะปลูกไปแล้ว 6.37 ล้านไร่ หรือ 96% ของแผนฯ ทั้งนี้ภาพรวมปริมาณน้ำในปัจจุบัน ยังคงเป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำที่กรมชลประทานได้กำหนดไว้ และยืนยันว่า น้ำจะเพียงพอสนับสนุนทุกกิจกรรมของการใช้น้ำไปจนตลอดฤดูแล้งนี้ เพราะได้มีการบริหารจัดการน้ำอย่างประณีต มีการจัดรอบเวรการส่งน้ำ การปรับปฏิทินการเพาะปลูก เพื่อให้สามารถเก็บเกี่ยวได้ก่อนฤดูน้ำหลาก ซึ่งจะช่วยลดความสูญเสียของผลผลิตทางเกษตร รวมถึงการวางแผนบริหารความเสี่ยงล่วงหน้า เพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ที่อาจเกิดขึ้นได้
ดังนั้รจึงอยากขอความร่วมมือทุกภาคส่วน ร่วมแรงร่วมใจช่วยกันใช้น้ำอย่างประหยัด และปฏิบัติตามแผนการจัดสรรน้ำอย่างรัดกุม เพื่อให้มีน้ำเพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนและลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม ตนได้กำชับทุกหน่วยงานในสังกัดกรมชลประทานทั่วประเทศ บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามแผนจัดสรรน้ำที่กำหนดไว้ พร้อมปฏิบัติตาม 10 มาตรการรองรับฤดูแล้งอย่างเคร่งครัด ตลอดจนวางแผนบริหารความเสี่ยง รองรับสถานการณ์ภัยแล้งในบางพื้นที่ไว้ล่วงหน้า เน้นย้ำน้ำอุปโภคบริโภคต้องเพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้