กรมชลประทาน เดินหน้าก่อสร้างโครงการประตูระบายน้ำศรีสองรักอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เลย หวังบรรเทาปัญหาทั้งน้ำท่วมและภัยแล้ง เป้าหมายมุ่งสร้างความมั่นคงทางด้านน้ำในพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้ ตามนโยบายของกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จังหวัดเลย เป็นหนึ่งในจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่มีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซาก เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำตอนบน ที่มีลำน้ำสาขาต่างๆ ไหลมาบรรจบกัน ประกอบกับแม่น้ำเลยเป็นแม่น้ำสายสั้น แต่มีพื้นที่รับน้ำมาก ทำให้ในฤดูฝนไม่สามารถระบายน้ำได้ทัน จนส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ ขณะที่ในช่วงฤดูแล้งกลับประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ เนื่องจากพื้นที่มีความลาดชันสูง จึงไม่สามารถสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ เพื่อเป็นแหล่งน้ำต้นทุนในการอุปโภคบริโภคและการเกษตรได้ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 ทรงมีพระราชดำริให้กรมชลประทานพิจารณาสร้างฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำตามความเหมาะสมในลำน้ำเลยตอนล่าง เพื่อส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกผืนใหญ่สองฝั่งแม่น้ำเลยในเขตอำเภอเชียงคาน โดยระบายน้ำจากเขื่อนเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำเลยตอนบนลงมาเสริมปริมาณน้ำธรรมชาติที่ฝายทดน้ำหรือเขื่อนทดน้ำเลยตอนล่าง เพื่อบรรเทาปัญหาขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร รวมทั้งยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในช่วงฤดูน้ำหลาก
กรมชลประทาน ได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำศรีสองรัก บริเวณ อ.เชียงคาน ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติให้ดำเนินโครงการฯ เมื่อวันที่ 10 ต.ค. 60 ประกอบด้วย ประตูระบายน้ำศรีสองรัก (ช่องลัด) จำนวน 5 ช่อง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 2,500 ลบ.ม./วินาที ประตูระบายน้ำในลำน้ำเดิม (แม่น้ำเลย) จำนวน 2 ช่อง สามารถระบายน้ำได้สูงสุด 400 ลบ.ม./วินาที พร้อมประตูเรือสัญจร และพนังกั้นน้ำตามแนวลำน้ำ ส่งน้ำด้วยระบบท่อส่งน้ำ ความยาวรวม 99 กิโลเมตร และสถานีสูบน้ำอีก 5 สถานี โดยในช่วงฤดูแล้งจะทำการปิดบานประตูระบายน้ำ เพื่อเก็บกักน้ำไว้ในลำน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนหรือการเกษตรของประชาชน ส่วนในช่วงฤดูน้ำหลากจะเปิดบานประตูระบายน้ำ เพื่อให้น้ำระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้เร็วยิ่งขึ้น ช่วยลดผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ได้เป็นอย่างมาก
ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างประตูระบายน้ำลงสู่ลำน้ำเดิม(แม่น้ำเลย) แล้วเสร็จเมื่อปี 2563 สามารถเก็บกักน้ำในลำน้ำเดิมได้บางส่วนแล้ว ช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง ทำให้พี่น้องเกษตรกรได้ใช้ประโยชน์จากโครงการฯ ได้อย่างเต็มศักยภาพ ภาพรวมของการดำเนินการ มีผลงานคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 50 ของแผนฯ หากดำเนินการจนแล้วเสร็จทั้งหมด จะเป็นแหล่งน้ำต้นทุนเพื่อการอุปโภคบริโภค รวมทั้งส่งน้ำให้พื้นที่การเกษตรได้กว่า 72,500 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่ 44 หมู่บ้าน 7 ตำบล มีประชากรได้รับประโยชน์รวมกว่า 9,287 ครอบครัว นอกจากนี้ ยังจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของ อ. เชียงคาน สร้างรายได้เสริมให้แก่ประชาชนในพื้นที่ได้อีกทางหนึ่งด้วย