กอนช.ประกาศ ฉบับที่ 53/2565 เรื่อง เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ ช่วงวันที่ 13-16 พ.ย.นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

กองอำนวยการน้ำฯ ออกประกาศฉบับที่ 53/2565 เรื่อง  เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้ หลังพบมีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ตอนล่าง มีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตร  จากการประเมินวิเคราะห์สถานการณ์พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 13 – 16 พฤศจิกายน 2565ในพื้นที่ 4 จังหวัด “พัทลง สงขลา ยะลา และปัตตานี”

                                                                      ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

                                                                                     ฉบับที่ 53/2565

                                                   เรื่อง  เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ภาคใต้

        กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้พบว่ามีฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ตอนล่างในช่วงที่ผ่านมา และมีปริมาณฝนสะสมมากกว่า 200 มิลลิเมตร โดย กอนช. ได้ประเมินวิเคราะห์สถานการณ์น้ำด้วยฝนคาดการณ์จากกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ(องค์การมหาชน) พบพื้นที่เสี่ยงเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำ ในช่วงวันที่ 13 – 16 พฤศจิกายน 2565 ดังนี้

       1.เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขัง บริเวณ จังหวัดพัทลุง (อำเภอบางแก้ว เขาชัยสน ปากพะยูน เมืองพัทลุง ป่าบอน และควนขนุน)จังหวัดสงขลา (อำเภอสิงหนคร ระโนด กระแสสินธุ์ เมืองสงขลา จะนะ ควนเนียง และสทิงพระ)จังหวัดยะลา (อำเภอธารโต กาบัง ยะหา บันนังสตา และเบตง)และจังหวัดปัตตานี (อำเภอยะหริ่ง)

      2.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่ง บริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำโกลก แม่น้ำสายบุรี และแม่น้ำปัตตานี

      3. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีแนวโน้มปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve)รวมทั้งอ่างฯ ขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่ด้านท้ายน้ำ โดยเฉพาะเขื่อนบางลาง ให้พิจารณาบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบหรือเกิดผลกระทบน้อยที่สุดบริเวณท้ายเขื่อน

     ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้

  1. ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
  2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณพื้นที่เสี่ยง
  3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที
  4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

                                                                       ประกาศ ณ วันที่   11 พฤศจิกายน 2565