ถกแก้ไขปัญหาผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลกว่า 3 ทศวรรษ ได้แค่เห็นชอบในหลักการ “หาที่ใหม่-จ่ายไร่ละ 8 หมื่น”

  •  
  •  
  •  
  •  

ถกการแก้ไขปัญหามาราธอนยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ ที่เกษตรกร 3 จังหวัด “ศรีสะเกษ-สุรินทร์-ร้อยเอ็ด” กระทบจากเขื่อนราษีไศล ได้แค่เห็นชอบในหลักการ ให้จัดหาที่ทำกินแห่งใหม่ หรื่อจ่ายชดเชยไร่ละ 80,800 บาท ให้กรมชลประทานสรุปรายละเอียดภายใน 15 วัน 

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 นายธนา ชีรวินิจ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายจาก ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของมวลชน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 3 / 2565 ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ์

ในที่ประชุมมีมติเห็นชอบในหลักการตามผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงของคณะทำงานตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีราษฎรขอรับสิทธิการจัดสรรที่ดินแปลงอพยพเนื่องจากได้รับผลกระทบจากเขื่อนราษีไศลจังหวัดสุรินทร์ ให้มีการจัดสรรที่ดินแปลงใหม่ให้ผู้ได้รับผลกระทบเข้าอาศัยและทำกินได้

อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถจัดหาที่ดินให้ได้ ขอให้จ่ายเงินค่าชดเชยค่าที่ดินเป็นกรณีพิเศษผู้มีสิทธิอัตราไร่ละ 80,800 บาท รวมจำนวน 1,590 ราย รวมพื้นที่ทั้งหมด 17,896-1-91 ไร่ เป็นเงินทั้งสิ้น 1,340,876,000 บาท ตามประเด็นข้อเรียกร้องของกลุ่มสมัชชาเกษตรกรภาคอีสาน และ กลุ่มสมาพันธ์เกษตรกรภาคอีสาน

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้มอบหมายให้กรมชลประทานรวบรวมเอกสารให้ถูกต้องครบถ้วน ภายใน 15 วัน เพื่อนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาในลำดับต่อไป

หมายเหตุ-สำหรับเขื่อนราษีไศล ก่อสร้างตามของคณะรัฐมนตรี เมื่อปี 2532 ปิดกั้นแม่น้ำมูลที่บริเวณบ้านห้วย อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ดำเนินการก่อสร้างจริงในระหว่างปี 2535-2536