เลขาฯ สำนักงานทรัพยากรน้ำฯ นำทีมตะลุย 4 จังหวัดรวด “สระบุรี-นครนายก-ฉะเชิงเทรา-สมุทรปราการ” ตรวจความพร้อมระบบลประทานเพื่อเร่งระบายน้ำออกทะเล ชี้ล่าสุดเขื่อนเจ้าพระยา-ป่าสักระบายน้ำลดลงต่อเนื่อง ย้ำชัดการระบายน้ำผ่านคลองระพีพัฒน์ไม่กระทบรังสิตและพื้นที่ในเขตกทม. เผย กอนช.เฝ้าจับตาทิศทางพายุ “เซินกา” หวั่นซ้ำเติมอีสาน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยาร่วมกับกรมชลประทานเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2565 ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำ และวางแผนการบริหารจัดการน้ำในการเร่งระบายออกสู่ทะเลโดยเร็วตามข้อสั่งการของ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้แก่ บริเวณประตูระบายน้ำพระศรีศิลป์ อ.หนองแค จ.สระบุรี
จากนั้นไปที่จุดก่อสร้างบริเวณประตูระบายน้ำคลอง 14 อ.องครักษ์ จ.นครนายก สถานีสูบน้ำสมบูรณ์ อ.องครักษ์ จ.นครนายก จุดก่อสร้างประตูระบายน้ำบางขนาก และจุดก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลองพระองค์ไชยานุชิต อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร อ.บางบ่อ จ.สมุทรปราการ ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำด้านเหนือเขื่อนเจ้าพระยาเริ่มลดลง กรมชลประทานจึงได้เริ่มลดการระบายท้ายเขื่อนเจ้าพระยาอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบประชาชนด้านท้าย โดยปัจจุบันการระบายน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ที่ 3,154 ลูกบาศก์เมตร/วินาที (ลบ.ม./วินาที)
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล
ขณะที่เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ได้มีการลดการระบายน้ำเช่นกัน ปัจจุบันระบายอยู่ที่ 721 ลบ.ม./วินาที จากวานนี้ 820 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้การระบายน้ำท้ายเขื่อนพระราม 6 ลดลงอยู่ที่ 1,010 ลบ.ม./วินาที โดยยังคงการระบายน้ำออกไปทางคลองระพีพัฒน์เพื่อลดผลกระทบด้านท้ายเขื่อนพระราม 6 ไม่ให้ได้รับผลกระทบหรือได้รับน้อยที่สุด โดยยืนยันการระบายน้ำมาทางระพีพัฒน์ไม่ได้กระทบต่อรังสิตและกรุงเทพมหานครแต่อย่างใด แต่ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาขณะนี้สูงขึ้นมีผลมาจากระดับน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงเวลาสั้นๆ ซึ่งกรุงเทพมหานครได้เร่งเสริมคันชั่วคราวในจุดฟันหลอต่าง ๆ ไม่ให้น้ำไหลเอ่อเข้าท่วมพื้นที่แล้วเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ศูนย์ส่วนหน้าฯ จ.ชัยนาท ภายใต้ กอนช.ได้เร่งดำเนินการใน 6 แนวทางเพื่อเร่งระบายน้ำหลากออกจากพื้นที่ท่วมขังโดยเร็วเพื่อลดผลกระทบให้กับประชาชนท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ได้แก่ 1.ลดปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนวังร่มเกล้า และเขื่อนพระรามหก รวมถึงแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำน้อยลงตามลำดับตามสัดส่วนของปริมาณน้ำที่ลดลง 2.ลดการรับน้ำไหลย้อนผ่านประตูผักไห่โดยให้กดบานลงตามระดับน้ำที่ลดลง,
3.ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำจากทุ่งผักไห่ลงสู่ทุ่งเจ้าเจ็ดโดยเร็ว 4.ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมเพื่อเร่งระบายน้ำออกจากคลองพระยาบันลือโดยให้เร่งสูบลงด้านแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นหลัก 5.ด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาให้ปรับลดการรับน้ำลงสู่ทุ่งบางกุ่มและบางกุ้งโดยให้พิจารณาผลกระทบเขต จ.อ่างทองไม่ให้น้ำเพิ่มขึ้นจนไหลล้นแนวป้องกัน และ 6.ให้เร่งอุดช่องขาดคันคลองชัยนาท-อยุธยาจำนวน 5 แห่งให้เสร็จโดยเร็ว
สำหรับการติดตามสถานการณ์พายุโซนร้อน “เซินกา” (SONCA) เมื่อเวลา 16.00 น.(14 ต.ค.)ที่ผ่านมา มีศูนย์กลางอยู่บริเวณทะเลจีนใต้ตอนกลาง พายุนี้กำลังเคลื่อนตัวทางทิศตะวันตกค่อนทางเหนือเล็กน้อย ห่างจาก อ.โขงเจียม จ.อุบลราชธานีประมาณ 570 กิโลเมตร คาดว่าจะเคลื่อนขึ้นฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง ในวันที่ 15 ต.ค.ส่งผลให้ช่วงวันที่ 14-15 ตุลาคม 2565 บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จะมีฝนเพิ่มขึ้น
โดยมีฝนตกหนักบางพื้นที่ และมีลมแรง ซึ่ง กอนช.ได้มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินทิศทางพายุ ปริมาณฝน รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทย โดยเฉพาะบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่างที่ต้องเฝ้าระวัง และแจ้งเตือนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมการบริหารจัดการน้ำรวมถึงช่วยเหลือประชาชนต่อไป.