“ประวิตร” ลงพื้นที่ลุยปลายด้ามขวานสั่งเร่งโครงการแก้ปัญหาน้ำท่วม-แล้งจังหวัดชายแดนใต้

  •  
  •  
  •  
  •  
“ประวิตร” ลุยลงพื้นที่ จ.นราธิวาส สั่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายในลำน้ำสำคัญ พร้อมให้พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เพียงพอกับความต้องการ เพื่อดูแลประชาชนในจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะโครงการสำคัญที่จะดำเนินการในปี 66-67 อีกจำนวน 25 โครงการ มีพื้นที่จะได้รับประโยชน์กว่า 230,000 ไร่
       วันที่19 กันยายน 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่รักษาการนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กพต.) ครั้งที่ 4/2565 พร้อมเยี่ยมชมนิทรรศการการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ จ.นราธิวาส โดยมี ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. นำเสนอภาพรวมการบริหารจัดการน้ำในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และนายเฉลิมชัย ตรีนรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 17 นำเสนอการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.นราธิวาส
       จากนั้นลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามการขับเคลื่อนมติ กพต. ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ ด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก โดยได้ติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำในพื้นที่ชุมชน จ.นราธิวาส พร้อมพบปะประชาชนและกล่าวมอบนโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่
       พลเอก ประวิตร กล่าวว่า การบริหารจัดการน้ำถือเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน จากการติดตามสถานการณ์น้ำในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ พบว่า ยังคงมีบางแห่งที่ประสบกับปัญหาน้ำท่วม เนื่องจากพื้นที่ที่มีความลาดชันสูงจึงเกิดน้ำป่าไหลหลาก ประกอบกับมีสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมถึงน้ำทะเลหนุน จึงได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขปัญหาทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายในลำน้ำสำคัญ เช่น แม่น้ำปัตตานี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำโก-ลก ฯลฯ การเตรียมความพร้อมอาคารบังคับน้ำและสถานีสูบน้ำ รวมถึงการป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมืองสำคัญ
       นอกจากนี้ ได้สั่งการให้เร่งแก้ไขปัญหาน้ำแล้ง โดยเฉพาะน้ำอุปโภค บริโภค รวมถึงปัญหาคุณภาพน้ำ โดยพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เพียงพอกับความต้องการ พัฒนาและปรับปรุงระบบส่งน้ำ และฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมบริเวณป่าพรุ
        ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้ สทนช. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กอนช. ติดตามผลการดำเนินงานโครงการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างและจังหวัดข้างเคียง ได้แก่ จ.สตูล และรายงานความก้าวหน้าให้รัฐบาลทราบ รวมทั้งในวันนี้ได้ลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าโครงการก่อสร้างระบบป้องกันน้ำท่วมและระบายน้ำในพื้นที่ชุมชน จ.นราธิวาส ซึ่งมีผลความก้าวหน้าที่ชัดเจน โดยได้กำชับให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จตามแผนโดยเร็ว
     พร้อมกันนี้ ได้สั่งการให้เร่งเตรียมความพร้อมโครงการสำคัญที่จะดำเนินการในปี 66-67 อีกจำนวน 25 โครงการ ซึ่งจะมีพื้นที่รับประโยชน์และได้รับการป้องกัน กว่า 230,000 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ กว่า 195,000 ครัวเรือน เพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บได้กว่า 68 ล้านลูกบาศก์เมตร อาทิ ระบบป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ชุมชนบูเก๊ะตา จ.นราธิวาส ระบบป้องกันน้ำท่วม พื้นที่ชุมชนเมืองยะลา ระยะที่ 2 จ.ยะลา สถานีสูบน้ำดิบรองรับการพัฒนาเมืองต้นแบบสามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน จ.ปัตตานี อ่างเก็บน้ำคลองแก้ว จ.สงขลา คลองระบายน้ำ คลองละงู-คลองน้ำเค็ม จ.สตูล เป็นต้น
       ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการฯ น้ำในพื้นที่ จ.นราธิวาส ยะลา ปัตตานี สงขลา และสตูล ในปี 61 – 64 มีการดำเนินการกว่า 3,700 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์และได้รับการป้องกัน กว่า 320,000 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ กว่า 240,000 ครัวเรือน อาทิ ระบบระบายน้ำหลัก พื้นที่ชุมชนเมืองนราธิวาส จ.นราธิวาส แก้มลิงบ้านจ้อง จ.ยะลา เขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองตะเครียะ จ.สงขลา ฯลฯ
        รวมทั้งมีการดำเนินโครงการตามงบกลาง ปี 65 จำนวน 80 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์และได้รับการป้องกัน กว่า 20,000 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ กว่า 600 ครัวเรือน และการดำเนินโครงการตามแผนงานบูรณาการฯ น้ำ ปี 65 อีกจำนวน 94 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ กว่า 13,000 ไร่ ครัวเรือนรับประโยชน์ กว่า 10,000 ครัวเรือน ซึ่ง สทนช. จะมีการติดตามประเมินผลพร้อมเร่งรัดหน่วยงานผู้รับผิดชอบให้ดำเนินการแล้วเสร็จตามข้อสั่งการอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขปัญหาและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนโดยเร็วที่สุด