“เฉลิมชัย” นำคณะลงเรือเอง ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ยืนยันไม่ต้องกังวลปริมาณน้ำเหนือยังมีปริมาณปกติ มั่นใจสามารถบริหารจัดการได้ และเชื่อว่าระดับน้ำไม่ท่วมเหมือนปี 54 อย่างแน่นอน
วันที่ 13 กันยายน 2565 นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำคณะลงเรือติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาหลังน้ำฝนตกหนักต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันกระทรวงเกษตรฯโดยกรมชลประทานมีการบริหารจัดการน้ำและควบคุมปริมาณการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ 1,800 – 2,000 ลบ.ม./วินาทีเพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ชุมชนและพื้นที่การเกษตรโดยได้มีการแจ้งเตือนไปยัง 11 จังหวัดในลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่จังหวัดอุทัยธานี ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ลพบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
นายเฉลิมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันปริมาณน้ำเหนือยังน้อยสังเกตได้จากสถานี C2 จังหวัดนครสวรรค์ที่มีการระบายน้ำอยู่ที่ 1,851 ลบ.ม./วินาทีซึ่งปริมาณดังกล่าวจะระบายผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาออกทะเลเป็นหลักจะยังไม่มีการระบายน้ำผ่านระบบบริหารน้ำเจ้าพระบายฝั่งตะวันตกและตะวันออกจะเห็นว่าในวันนี้ (13 ก.ย. 65) กรมชลประทานระบายน้ำเข้าฝั่งตะวันออกเพียง 41 ลบ.ม./วินาทีเท่านั้นสำหรับใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคขณะที่เจ้าพระยาฝั่งตะวันตกระบายเพียง 20 ลบ.ม./วินาทีดังนั้นปริมาณน้ำดังกล่าวจึงไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพฯนนทบุรีและปทุมธานีแต่อย่างใด
สำหรับกรณีที่มีปริมาณน้ำมากในคลองรอบกรุงเทพมหานครเช่นคลองรังสิตและคลองประเวศเป็นผลมาจากปริมาณน้ำฝนที่ตกต่อเนื่องในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมามากกว่าวันละ 100 มิลลิเมตรจึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานระดมเครื่องสูบน้ำเพื่อช่วยระบายน้ำออกสู่ทะเลในพื้นที่คลองต่างๆรอบกรุงเทพฯเพื่อช่วยลดผลกระทบในพื้นที่กทม. เช่นระดมสูบน้ำในคลองรังสิตไปออกแม่น้ำบางปะกงและสูบในคลองประเวศฯไปออกทะเลที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาชลหารพิจิตร
“ในวันนี้มาดูระดับน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยาตั้งแต่กรุงเทพฯนนทบุรีและปทุมธานีซึ่งอยากเปรียบเทียบให้เห็นว่าในช่วงเวลาเดียวกันนี้เดือนกันยายนในปี 2564 มีการระบายน้ำอยู่ที่ประมาณ 2,800 ลบ.ม. แต่ในปีนี้มีการปล่อยน้ำที่ 1,851 ลบ.ม./วินาทีจึงอยากให้มั่นใจว่าระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยายังอยู่ในสถานการณ์ปกติอย่างไรก็ตามกระทรวงเกษตรฯจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดโดยบูรณาการร่วมกับหน่วยงานต่างๆทั้งสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กทม. และจังหวัดทุกจังหวัดและจะมีการประกาศแจ้งเตือนให้กับพื้นที่ได้รับทราบทันทีสำหรับข้อกังวลใจว่าจะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมเหมือนปี 54 นั้นขอให้ประชาชนมั่นใจว่าจะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน” ดร.เฉลิมชัยกล่าว
ทั้งนี้การให้ความช่วยเหลือในปัจุบันในส่วนของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์หลังจากฝนที่ตกสะสมตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมากรมชลประทานได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 150 เครื่องติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 260 เครื่องเครื่องจักรอื่นๆ 1 เครื่องและกระสอบทราย 12,000 กระสอบนอกจากนี้กรมปศุสัตว์ยังได้ดำเนินการอพยพสัตว์ 2,181 ตัวแจกจ่ายหญ้าพระราชทาน 173.46 ตันอาหาร TMR 4.50 ตันสร้างเสริมสุขภาพสัตว์ 41 ตัวรักษาสัตว์ 10 ตัวและสนับสนุนถุงยังชีพสัตว์ 106 ถุงพร้อมสนับสนุนเรือยางของกรมประมงจำนวน 1 ลำพร้อมเจ้าหน้าที่