ด่วน!! เขื่อนราษีไศลน้ำล้นแล้ว…ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ กอนช.ออกประกาศ เตือนเฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำมูล

  •  
  •  
  •  
  •  
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กทนช.) ออกประกาศฉบับที่ที่ 1/2565 ให้เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำมูล หลังพบมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศลเพิ่มมากขึ้น ล่าสุดระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ 3 จังหวัดริมแม่น้ำมูล “ศรีสะเกษ-สุรินทร์-ร้อยเอ็ด”  
ประกาศ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
                                            ฉบับที่ 1/2565
                          เรื่อง เฝ้าระวังระดับน้ำบริเวณแม่น้ำมูล
          ด้วยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้ติดตาม สถานการณ์น้ำบริเวณลุ่มน้ำมูลตอนบน พบว่ามีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศลเพิ่มมากขึ้นและระดับน้ำบริเวณหน้าเขื่อนได้เพิ่มสูงขึ้นเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ริมแม่น้ำมูลในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ สุรินทร์ และร้อยเอ็ด ประกอบกับการคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในช่วงวันที่ 9 – 12 กันยายน 2565 จะมีฝนตกหนักบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
      ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าฯ ประสานให้กรมชลประทานพิจารณาปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดเพื่อลดผลกระทบด้านท้ายน้ำ คาดการณ์ว่าจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านเขื่อนราษีไศล อยู่ในเกณฑ์ 1,100 – 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที และมวลน้ำจะไหลไปรวมกับแม่น้ำชีและลำน้ำสาขา ซึ่งจะทำให้มีปริมาณน้ำไหลผ่าน อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี อยู่ในเกณฑ์ 2,500 – 2,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โดยในช่วงวันที่ 13 – 18 กันยายน 2565 ระดับน้ำจะเพิ่มขึ้นประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร บริเวณอำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี โดยไม่ส่งผลกระทบกับพนังกั้นน้ำที่ได้เตรียมป้องกันไว้แล้ว
      ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้
1. ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ,2. ติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำ และเร่งกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสม โดยปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน ลดผลกระทบความรุนแรงของอุทกภัย รวมทั้งจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชี และแม่น้ำมูล เพื่อลดผลกระทบจากมวลน้ำที่จะไหลหลากมายังบริเวณแม่น้ำมูล จังหวัดอุบลราชธานี
     3. เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที,4. ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
                                                ประกาศ ณ วันที่ 10 กันยายน 2565