กรมชลฯติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟร-เครื่องผลักดันน้ำ เร่งระบายน้ำในคลองรังสิตฯ (มีคลิป)

  •  
  •  
  •  
  •  

อธิบดีกรมชลฯ นำคณะเดินสายแก้ปัญหาน้ำท่วมทั้งใน กทม.เขตปริมณฑลและรอบนอก ล่าสุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟร และเครื่องผลักดันน้ำ ที่สถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตประยูรศักดิ์ เสริมศักยภาพการระบายน้ำในคลองรังสิตฯลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยาให้เร็วที่สุด ช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี และอีกหลายพื้นที่เสี่ยง

วันที่ 9 กันยายน 2565 นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายสุริยพล นุชอนงค์ รองอธิบดีกรมชลประทาน นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 และผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามการระบายน้ำ เพื่อช่วยเหลือพื้นที่น้ำท่วมขังในเขตกรุงเทพมหานครและจังหวัดปทุมธานี บริเวณสถานีสูบน้ำสมบูรณ์ จังหวัดนครนายก และประตูระบายน้ำบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา

นายประพิศ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำในคลองรังสิตว่า  ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของกรุงเทพมหานครจังหวัดปทุมธานี ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ชุมชนและผิวจราจรที่ลุ่มต่ำหลายแห่ง  วานนี้  (8 ก.ย. 65)กรมชลประทาน ได้เร่งเข้าไปติดตั้งเครื่องสูบน้ำเสริมจำนวน 9 เครื่อง พร้อมเดินเครื่องเร่งระบายน้ำในคลองรังสิตฯ ส่งผลให้ปัจจุบันระดับน้ำในคลองรังสิตฯ ลดลงอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากที่สุด ได้สั่งการให้นำเครื่องสูบน้ำระบบไฮโดรโฟล (hydroflow) จำนวน 2 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำ จำนวน 6 เครื่อง เข้าไปติดตั้งเพิ่มเติมทางฝั่งขวาของสถานีสูบน้ำกึ่งถาวรปากคลองรังสิตฯ เพื่อเสริมศักยภาพในการระบายน้ำ ได้มากยิ่งขึ้น บรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนในพื้นที่จังหวัดปทุมธานีให้มากที่สุด จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน

นอกจากนี้ กรมชลประทาน ได้ใช้คลองแนวขวางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา อาทิ คลองหกวาสายล่าง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำนครนายก ผ่านสถานีสูบน้ำสมบูรณ์ จังหวัดนครนายก ที่ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ 6 เครื่อง สามารถระบายน้ำได้ประมาณวันละ 1.3 ล้าน ลบ.ม. ส่วนที่คลองแสนแสบ (คลองบางขนาก) ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านประตูระบายน้ำบางขนาก จังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไว้แล้ว 20 เครื่อง ระบายน้ำรวมกันประมาณวันละ 4.65 ล้าน ลบ.ม.

ที่คลองประเวศน์บุรีรมย์ ระบายน้ำลงสู่แม่น้ำบางปะกง ผ่านประตูระบายน้ำกลางคลองประเวศน์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ก่อนระบายออกสู่ทะเลอ่าวไทยอย่างเต็มศักยภาพ ช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบอย่างสุดกำลัง

ส่วนคลองแนวตั้งด้านฝั่งตะวันออกของแม่น้ำเจ้าพระยา ไม่ว่าจะเป็นคลอง 13 และคลองพระองค์ไชยานุชิต แบ่งรับน้ำจากทางตอนบนของกรุงเทพมหานคร ก่อนจะใช้สถานีสูบน้ำ (สน.) ที่ตั้งอยู่ริมคลองชายทะเล อาทิ สน.ชลหารพิจิตร สน.นางหงษ์ สน.เจริญราษฎร์ สน.บางปลา และ สน.สุวรรณภูมิ เป็นต้น เร่งระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทย ซึ่งสถานีสูบน้ำและประตูระบายน้ำที่ตั้งอยู่ตามแนวคลองชายทะเล มีศักยภาพระบายน้ำได้รวมกันกว่า 42 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน

“ผมยืนยันว่า กรมชลประทาน มีเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำ ที่พร้อมจะเข้าไปสนับสนุนทุกหน่วยงาน ทุกพื้นที่ที่ได้รับการร้องขอ เพื่อร่วมกันเข้าไปช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชน จนกว่าสถานการณ์จะเข้าสู่ภาวะปกติ” อธิบดีกรมชลประทานกล่าว