รองนายกฯ “ประวิตร” ลุยเมืองน่าน ติดตามสถานการณ์น้ำ และการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่น “มู่หลาน” สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งช่วยเหลือฟื้นฟู และจัดทำแผนรับมือฤดูฝนให้ชัดเจน พร้อมเร่งดำเนินงานโครงการก่อสร้างฝายกั้นลำห้วยน้ำซาวบ้านศรีเกิด ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร
วันที่ 22 สิงหาคม 2565 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พร้อมคณะ เดินทางไปตรวจราชการพื้นที่จังหวัดน่าน เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ และภาพรวมความเสียหายของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากพายุดีเปรสชั่น “มู่หลาน” โดยประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ ห้องพระเจ้าสุริยพงษ์ผลิตเดช ชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดน่าน จากนั้นได้เดินทางไปติดตามความก้าวหน้าการดำเนินโครงการก่อสร้างฝายกั้นลำน้ำซาว บ้านศรีเกิด หมู่ที่ 3 ตำบลไชยสถาน อำเภอเมือง และตำบลบ่อ อำเภอน่าน เพื่อติดตามการช่วยเหลือ พร้อมมอบสิ่งของให้แก่ผู้แทนประชาชนที่ประสบภัย จำนวน 1,000 ราย
พลเอกประวิตร กล่าวว่า รัฐบาลมีความห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยจากพายุดีเปรสชั่น “มู่หลาน” จึงได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดเข้าไปช่วยเหลืออย่างทันท่วงที พร้อมทำการฟื้นฟูเยียวยา และเร่งแก้ไขปัญหาในจุดต่างๆ ให้กลับคืนสู่สภาพดังเดิมโดยเร็ว และขอย้ำให้พิจารณาจัดทำแผนงานโครงการแก้ไขปัญหาในระยะสั้นและระยะยาว ให้ครอบคลุมปัญหาของพื้นที่จังหวัดและลุ่มน้ำ
ในการนี้ได้มอบหมายให้ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กรมชลประทาน กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และจังหวัดน่าน เร่งดำเนินการทั้ง 13 มาตรการรับมือฤดูฝนอย่างต่อเนื่อง และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วมปี 2565 ที่ กนช. ได้เห็นชอบ ขณะเดียวกันได้ให้กรมทางหลวง เร่งดำเนินการโครงการก่อสร้างสะพานเชื่อมโยงเศรษฐกิจภูมิภาคระหว่างบ้านผาเวียง จังหวัดอุตรดิตถ์ และบ้านปากนาย จังหวัดน่าน ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว
ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติจัดสรรงบกลางให้กับจังหวัดน่านแล้ว 2 ครั้ง จำนวน 98 โครงการ เพื่อดำเนินการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนให้ประชาชน และได้ให้หน่วยงานที่รับผิดชอบมอบสิ่งของจำเป็นบรรเทาทุกข์ให้กับผู้ประสบภัย พร้อมเร่งทำการฟื้นฟู เยียวยาและซ่อมแซม สถานที่ที่เสียหายให้กลับมามีสภาพใช้งานได้ตามเดิม รวมถึงเร่งดำเนินงานโครงการก่อสร้างฝายกั้นลำห้วยน้ำซาว บ้านศรีเกิด ซึ่งเป็นความต้องการของประชาชนที่จะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ด้วย
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวเพิ่มเติมว่าถึงสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำน่าน ว่า ปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ มีอยู่ประมาณ 50% ของความจุเก็บกัก ซึ่งแม้ว่ายังสามารถรองรับปริมาณฝน ซึ่งที่คาดการณ์ว่า จะมีร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือตอนบน ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในพื้นที่ภาคเหนือ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดน่าน แต่ลำน้ำรวมถึงดินมีการอุ้มน้ำไว้มากพอสมควร จากฝนตกหนัก ฝนตกสะสม รวมถึงจากอิทธิพลของ “มู่หลาน” ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ โดยเฉพาะพื้นที่ลาดเชิงเขาใกล้ทางน้ำไหลผ่านและพื้นที่ลุ่มด้วย