กอนช. ประกาศเตือนอีกครั้ง!เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก-ท่วมฉับพลันทั่วไทย 20-24 ส.ค.นี้

  •  
  •  
  •  
  •  

กองอำนวยการน้ำฯ ออกประกาศฉบับที่ 29/2565 เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลันทุกภาคทั่วประเทศช่วงวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2565 หลังจากที่กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2565 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งทั้ง 5 ภาค รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑลด้วย

                                      ประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ

                                                         ฉบับที่ 29/2565

                        เรื่อง  เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน

       กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้ติดตามการคาดการณ์สภาพอากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงวันที่ 20 – 22 สิงหาคม 2565 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ภาคตะวันออก และภาคใต้

        กอนช. ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่าจะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน รวมทั้งมีบางพื้นที่มีน้ำท่วมขังอยู่เดิมอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงขอให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง ในช่วงวันที่ 20 – 24 สิงหาคม 2565 ดังนี้

  1. เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก น้ำท่วมขังบริเวณ

      * ภาคเหนือ จังหวัดเชียงราย (อำเภอเชียงของ และเชียงแสน) จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภออมก๋อย) จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อำเภอสบเมย และแม่สะเรียง) จังหวัดน่าน (อำเภอปัว เฉลิมพระเกียรติ ทุ่งช้าง และบ่อเกลือ) จังหวัดพิษณุโลก (อำเภอชาติตระการ นครไทย และวัดโบสถ์) จังหวัดเพชรบูรณ์ (อำเภอชนแดน และวังโป่ง) จังหวัดอุตรดิตถ์ (อำเภอทองแสนขัน และน้ำปาด) จังหวัดตาก (อำเภอท่าสองยาง)

      * ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จังหวัดกาฬสินธุ์ (อำเภอท่าคันโท และสามชัย) จังหวัดนครพนม (อำเภอท่าอุเทน ธาตุพนม บ้านแพง ปลาปาก โพนสวรรค์ เมืองนครพนม วังยาง และศรีสงคราม) จังหวัดบึงกาฬ (อำเภอเซกา โซ่พิสัย บึงโขงหลง บุ่งคล้า ปากคาด พรเจริญ เมืองบึงกาฬ และศรีวิไล) จังหวัดสกลนคร (อำเภอคำตากล้า บ้านม่วง พรรณนานิคม พังโคน โพนนาแก้ว เมืองสกลนคร วานรนิวาส และอากาศอำนวย) จังหวัดหนองคาย (อำเภอเฝ้าไร่ โพนพิสัย และเมืองหนองคาย) จังหวัดอุดรธานี (อำเภอบ้านดุง วังสามหมอ และสร้างคอม)

      * ภาคตะวันออก จังหวัดระยอง (อำเภอแกลง) จังหวัดจันทบุรี (อำเภอท่าใหม่ นายายอาม และแหลมสิงห์) จังหวัดตราด (อำเภอเมืองตราด เกาะกูด และเกาะช้าง)

       * ภาคใต้ จังหวัดนราธิวาส (อำเภอจะแนะ แว้ง ศรีสาคร สุคิริน ยี่งอ ระแงะ และรือเสาะ) จังหวัดปัตตานี (อำเภอทุ่งยางแดง ปะนาเระ มายอ ยะรัง และยะหริ่ง) จังหวัดยะลา (อำเภอกรงปินัง ธารโต บันนังสตา เบตง เมืองยะลา และรามัน)

       2.เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันและระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา ของแม่น้ำกก แม่น้ำวัง แม่น้ำยม แม่น้ำน่าน แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำเลยแม่น้ำชี แม่น้ำมูล แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำปราจีนบุรี แม่น้ำตราด แม่น้ำจันทบุรี แม่น้ำสายบุรี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสุไหงโก-ลก

      3.เฝ้าระวังแหล่งน้ำและอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการเก็บกักน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) 10 แห่งได้แก่อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่ อ่างเก็บน้ำกิ่วลม และกิ่วคอหมา จังหวัดลำปาง อ่างเก็บน้ำแควน้อยบำรุงแดน จังหวัดพิษณุโลก บึงบอระเพ็ด จังหวัดนครสวรรค์ อ่างเก็บน้ำป่าสักชลสิทธิ์ จังหวัดลพบุรี อ่างเก็บน้ำน้ำพุง จังหวัดสกลนคร อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น อ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี และอ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล จังหวัดระยอง รวมทั้งอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กและขนาดกลางที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำทั่วประเทศ

      ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้            1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ

      2.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงและความสามารถใช้งานของอ่างเก็บน้ำ อาคารบังคับน้ำ สถานีสูบน้ำ และติดตาม ตรวจสอบ ซ่อมแซม แนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ พร้อมทั้งวางแผนการบริหารจัดการน้ำให้เหมาะสมกับปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำ และระดับน้ำในลำน้ำ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วม ให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

     3.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือได้ทันที

      4.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์

                                          ประกาศ ณ วันที่    17     สิงหาคม 2565