กอนช. คาดการณ์อนิสงค์จาก “มู่หลาน” ทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนขนาดใหญ่รวมกันเกือบ 5 พันล้าน ลบ.ม. ย้ำข้อสั่งการนายกฯ ให้เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน พร้อมจับตา 9 เขื่อนใหญ่ปริมาณน้ำมากให้เร่งบริหารจัดการอยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) เปิดเผยว่า ตามที่พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้สั่งการและเน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำหลาก และน้ำท่วมฉับพลัน จากอิทธิพลของร่องมรสุมและพายุโซนร้อน “มู่หลาน” ระหว่างวันที่ 7 – 13 สิงหาคม 2565 นี้ อาจทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก
นอกจากนี้ให้เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำสูงสุด (Upper Rule Curve) และอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณการกักเก็บ ตลอดจนให้เตรียมเครื่องมือ เครื่องจักร และบุคลากร พร้อมรองรับหากเกิดภาวะฉุกเฉินเพื่อเร่งช่วยเหลือได้ทันต่อสถานการณ์ ซึ่ง สทนช.ได้ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายใต้ กอนช.ให้เตรียมพร้อมรับมือโดยเฉพาะพื้นที่เสี่ยงภัยตามประกาศของ กอนช.ฉบับที่ 26/2565 อย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม จากอิทธิพลของร่องมรสุมและพายุโซนร้อน “มู่หลาน” ที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว กอนช. ยังคาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำของเขื่อนขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่งทั่วประเทศ จะมีปริมาณน้ำรวมกันไม่น้อยกว่า 4,972 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) แบ่งเป็นพื้นที่ ภาคเหนือ จำนวน 9 แห่ง คาดการณ์น้ำไหลเข้า 2,024 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนสิริกิติ์ จะมีปริมาณน้ำไหลเข้ามากที่สุดประมาณ 742 ล้าน ลบ.ม. รองลงมาเป็นเขื่อนภูมิพล ปริมาณน้ำไหลเข้า 692 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ปริมาณน้ำไหลเข้า 254 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนกิ่วลม ปริมาณน้ำไหลเข้า 134 ล้าน ลบ.ม.
ในส่วนของเขื่อนกิ่วคอหมาและเขื่อนกิ่วลมนั้น กอนช.ได้ประเมินคาดการณ์แนวโน้มน้ำเต็มความจุเขื่อนเก็บน้ำและเสี่ยงล้นทางระบายน้ำล้นจึงแจ้งให้กรมชลประทานเฝ้าระวังเป็นพิเศษและพิจารณาปรับการระบายน้ำในอัตราที่เหมาะสม หากมีการปรับเพิ่มการระบายน้ำให้แจ้งเตือนประชาชนด้านท้ายเขื่อนทราบ เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและขนย้ายสิ่งของขึ้นที่สูงไว้ล่วงหน้า
ขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเขื่อนขนาดใหญ่ จำนวน 12 แห่ง คาดการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯรวมกันประมาณ 1,303 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนสิรินธร จะมีปริมาณน้ำไหลเข้ามากที่สุด 557 ล้าน ลบ.ม. รองลงมาคือ เขื่อนอุบลรัตน์ มีปริมาณน้ำไหลเข้า 316 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนลำปาว มีปริมาณน้ำไหลเข้า 286 ล้าน ลบ.ม. ภาคกลาง จำนวน 2 แห่ง มีปริมาณน้ำไหลเข้ารวมกันประมาณ 177 ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ 162 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนกระเสียว 15 ล้าน ลบ.ม.
ภาคตะวันออก มีจำนวน 6 แห่ง คาดว่ามีปริมาณน้ำไหลเข้ารวมกันประมาณ 137 ล้าน ลบ.ม. โดย
เขื่อนขุนด่านปราการชล จะมีปริมาณน้ำไหลเข้ามากที่สุด 48 ล้าน ลบ.ม. รองลงมาเป็นเขื่อนนฤบดินทรจินดา 26 ล้านลบ.ม. เขื่อนคลองสียัด 23 ล้าน ลบ.ม.
ภาคตะวันตก มีเขื่อนขนาดใหญ่ 4 แห่ง คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ รวมกันประมาณ 1,174 ล้าน ลบ.ม. โดยเขื่อนวชิราลงกรณ ปริมาณน้ำไหลเข้ามากที่สุด 627 ล้าน ลบ.ม. รองลงมาคือ เขื่อนศรีนครินทร์ จำนวน 460 ล้าน ลบ.ม. และภาคใต้ 2 แห่ง คาดว่าจะมีปริมาณน้ำไหลเข้ารวมกัน 158 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ เขื่อนรัชช ประภา 105 ล้าน ลบ.ม. และเขื่อนบางลาง 52 ล้าน ลบ.ม. ตามลำดับ
“สทนช.ได้มีการติดตามปริมาณน้ำในเขื่อนต่างๆ ที่มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณน้ำมากในช่วงนี้ โดยได้ประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบ บริหารจัดการน้ำให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม โดยเฉพาะอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 9 แห่งที่มีปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติ ได้แก่ เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนกิ่วลม เขื่อนกิ่วคอหมา บึงบอระเพ็ด เขื่อนน้ำพุง เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนบางพระ เขื่อนหนองปลาไหล และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางที่มีปริมาณน้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของปริมาณการกักเก็บรวม 112 แห่ง แบ่งเป็น ตะวันออกเฉียงเหนือ 65 แห่ง ภาคเหนือ 23 แห่ง ภาคตะวันออก 15 แห่งภาคตะวันตก 4 แห่ง ภาคใต้ 4 แห่ง และภาคกลาง 1 แห่ง” ดร.สุรสีห์ กล่าว