” นิพนธ์” ย้ำคนไทยต้องเข้าถึง “ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน” อย่างทั่วถึง-เท่าเทียม-มีมาตรฐานเดียวกัน

  •  
  •  
  •  
  •  

” นิพนธ์” ย้ำคนไทยต้องเข้าถึง “ระบบการแพทย์ฉุกเฉิน” อย่างทั่วถึง เท่าเทียมและมีมาตรฐานเดียวกัน ชี้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542  ระบุการแพทย์ฉุกเฉินเป็นการรักษาพยาบาลเบื้องต้น พร้อมบูรณาการสร้าง “ความปลอดภัยทางถนน” ระบุทั้ง 2 ส่วนต้องเดินควบคู่กัน เพื่อลดอัตราการตายและพิการ

วันที่ 6 กรกฎาคม 2565 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยเป็นประธานในพิธีเปิดโครงการประชุมวิชาการการแพทย์ฉุกเฉินในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นระดับชาติ ครั้งที่ 6 “ท้องถิ่นร่วมใจ ปลอดภัยทุกชีวิต”  ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตจังหวัดพัทลุง โดยมีรองผวจ.พัทลุง เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย ผู้แทนอบจ. ผู้แทนจากสาธารณสุข วิทยากร พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมในพิธีเปิดการประชุมวิชาการ

นายนิพนธ์  กล่าวว่า  การจัดประชุมการแพทย์ฉุกเฉินฯครั้งนี้  เพื่อให้เกิดการบูรณาการในให้การบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพื่อการเข้าถึงบริการของประชาชน ซึ่งท้องถิ่นเป็นหน่วยงานที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉิน อันจะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงระบบการแพทย์ฉุกเฉินอย่างทั่วถึง เท่าเทียม มีคุณภาพมาตราฐาน และได้รับการรักษาพยาบาลที่มีประสิทธิภาพและทันต่อเหตุการณ์

นิพนธ์ บุญญามณี

ทั้งนี้มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นหน่วยงานหลักการแพทย์ฉุกเฉินถือว่าเป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ตาม พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2542 เพราะการแพทย์ฉุกเฉินเป็นการรักษาพยาบาลเบื้องต้น จึงเป็นอำนาจหน้าที่ของท้องถิ่น รวมทั้งพ.ร.บ.การแพทย์ฉุกเฉิน พ.ศ.2551 ซึ่งมีแนวทางการดำเนินงานตามประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉิน เรื่องหลักเกณฑ์ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้ดำเนินงานและบริหารจัดการระบบการแพทย์ฉุกเฉินในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่

นายนิพนธ์ กล่าวอีกว่า หากประเทศไทยมีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่ได้มาตรฐานประชาชนสามารถเข้าถึงบริการการแพทย์ฉุกเฉินได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ ก็สามารถลดการสูญเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือการเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ เป็นการสร้างความมั่นใจให้กับนานาประเทศที่เข้ามาติดต่อหรือเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยว่า หากเกิดการเจ็บป่วยฉุกเฉินในประเทศไทย เราก็มีระบบการแพทย์ฉุกเฉินที่สามารถรองรับได้

ดังนั้นการแพทย์ฉุกเฉินจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนการท่องเที่ยว พวกเราจึงต้องมาช่วยกันดูแลระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้มีคุณภาพ มาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ โดยมี อปท.เป็นกลไกที่สำคัญ ที่จะทำให้การแพทย์ฉุกเฉินมีความทั่วถึง ครอบคลุม เท่าเทียมและเป็นมาตรฐานเดียวกันในการดูแลประชาชนที่เจ็บป่วยฉุกเฉิน ดังนั้นจึงต้องให้หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องช่วยกันส่งเสริม สนับสนุน อปท.ในการดำเนินการในเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะกระทรวงมหาดไทย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ต้องช่วยกันทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทย สามารถให้บริการที่มีคุณภาพมาตรฐาน อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม และเป็นแบบอย่างที่ดี

นอกจากนี้ ในเรื่องความปลอดภัยทางถนนที่ยังเป็นภัยคุกคามคนไทยทำให้แต่ละปีมีคนไทยเสียชีวิตบนท้องถนนเฉลี่ยปีละ 20,000 ราย ซึ่งจุดนี้หากระบบการแพทย์ฉุกเฉินสามารถบูรณาการให้เข้ากับการช่วยเหลือที่รวดเร็ว โดยเมื่อเกิดอุบัติเหตุแล้วระบบการแพทย์ฉุกเฉินสามารถให้การช่วยเหลือทันทีในเวลาอันรวดเร็ว สิ่งนี้จะเป็นการช่วยรักษาชีวิตเป็นการเติมบุญให้กับเพื่อนมนุษย์ และเมื่อทั้งสองระบบนี้ได้เดินควบคู่กันได้ เราก็ลดอัตราการตายและบาดเจ็บพิการลงได้อีกทางหนึ่ง

ในการจัดประชุมวิชาการครั้งนี้ ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าทุกท่านจะได้นำความรู้ ประสบการณ์หรือผลงานของพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จ กลับไปปรับปรุงพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินในพื้นที่เพื่อทำให้ระบบการแพทย์ฉุกเฉินมีความก้าวหน้ารวดเร็วยิ่งขึ้น