ปูพรม 6 จุดบุกตรวจยึด/อายัดทรัพย์สินคนโกงสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯมูลค่า 300 ล้าน

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมส่งเสริมสหกรณ์ สนธิกำลังกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และ สน.นางเลิ้ง ส่งเจ้าหน้าที่บุกตรวจ เพื่อยึด/อายัดทรัพย์สินของผู้ที่มีส่วนทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรฯ ในที่พื้นที่เป้าหมาย 6 จุด พบทรัพย์สินอื้อ ทั้งที่ดิน โรงแรม รีสอร์ท รถยนต์หรู  กระเป๋าแบรนด์ นาฬิกาหรูเพียบ รวมมูลค่า 300 ล้านบาท

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นายวิศิษฐ์ ศรีสุวรรณ์ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ นายประกอบ เผ่าพงศ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ ร่วมกับคณะของนายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ และพันตำรวจเอก สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมาย เพื่อแสวงหาหลักฐาน และยึด/อายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการทุจริตในสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด เพื่อดำเนินคดีพิเศษ

การเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายในครั้งนี้ จำนวน 6 จุด ได้แก่ สถานที่พักอาศัยของผู้ที่ส่วนผัวพันในการทุจริต ในพื้นที่จังหวัดปทุมธานี จำนวน 2 จุด สถานประกอบกิจการภัตตาคารและร้านอาหารในจังหวัดปทุมธานี จำนวน 2 จุด และสถานประกอบกิจการโรงแรมในจังหวัดสมุทรสงครามและจังหวัดเพชรบูรณ์อีก 2 จุด

ผลการตรวจค้น ทั้ง 6 จุด พบทรัพย์สินประเภทที่ดิน จำนวน 5 แปลง รถยนต์หรู จำนวน 3 คัน กระเป๋าแบรนด์เนมหลายใบ นาฬิกาหรูจำนวนหลายเรือน รวมทรัพย์สินฯ ที่ได้ทำการตรวจยึด/อายัดไว้ มีมูลค่าประมาณ 300 ล้านบาท โดยกรมส่งเสริมสหกรณ์จะบูรณาการการทำงานร่วมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ และสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เพื่อขยายผลติดตามทรัพย์สินต่อไป

ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวสืบเนื่องจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ได้รับคดีอาญาไว้ทำการสอบสวน กรณีมีการทุจริตภายในสหกรณ์ออมทรัพย์กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำกัด อันเป็นความผิดอาญาฐานลักทรัพย์นายจ้าง โดยพบว่ามีการทุจริตเงินสหกรณ์ฯ มากกว่า 600 ล้านบาท กระทำการหลายครั้งลักษณะเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามมาตรา 3 (18) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

จากการสืบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ พบว่ามีการนำเงินที่ทุจริตออกจากสหกรณ์ไปซื้อทรัพย์สินประเภทที่ดิน เพื่อประกอบกิจการรีสอร์ท บ้านพัก ภัตตาคาร ร้านอาหารหลายแห่ง รถยนต์หรูและทรัพย์สินอื่นอีกจำนวนมาก โดยยังพบว่ามีการนำไปลงทุนซื้อหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนอื่นด้วย จึงเป็นพฤติการณ์ที่เข้าข่ายการเปลี่ยนแปลงสภาพทรัพย์สิน เพื่อปกปิดแหล่งที่มา อันเป็นความผิดฐานฟอกเงิน ตามมาตรา 5 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542