รัฐบาลโชว์ผลงานด้านทรัพยากรน้ำ ยืนยันแก้ปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง และคุณภาพน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า สามารถจัดหาน้ำได้เพิ่มขึ้นถึง 1,797 ล้านลบ.ม. ประชาชนได้รับประโยชน์มากกว่า 1 ล้านครัวเรือนรวมถึงภาคการเกษตรด้วย
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่ารัฐบาลให้ความสำคัญในการดำเนินงานด้านทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยได้จัดทำแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปี2561-2580) พร้อมทั้งได้มีการบูรณาการและติดตามขับเคลื่อนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมสำเร็จตามเป้าหมายคือ ทุกหมู่บ้านมีน้ำสะอาดอุปโภค บริโภค น้ำเพื่อการผลิตมั่นคง ความเสียหายจากอุทกภัยลดลง คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน บริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน ภายใต้การพัฒนาอย่างสมดุล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล
ผลจากการดำเนินการตามแผนแม่บทน้ำฯ ตั้งแต่ปี 2561 ถึงปัจจุบันสามารถเพิ่มประสิทธิภาพประปาหมู่บ้าน 4,675 แห่ง จัดหาปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่มขึ้น 1,797 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.) แบ่งเป็น การพัฒนาแหล่งน้ำผิวดินทั้งในพื้นที่ชลประทานและพื้นที่เกษตรน้ำฝนได้ปริมาณน้ำต้นทุนถึง 1,452 ล้าน ลบ.ม. พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรได้ปริมาณน้ำ 124 ล้าน ลบ.ม. และปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำให้แหล่งน้ำอีก 221 ล้านลบ.ม. สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้ 1.17 ล้านไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 1.08 ล้านครัวเรือน รวมทั้งยังได้พัฒนาระบบป้องกันอุทกภัย มีพื้นที่ที่ได้รับการป้องกัน 9,556 ไร่ ประชาชนได้รับการป้องกัน 10,893 ครัวเรือน สร้างระบบรวบรวมและบำบัดน้ำเสียรวมของชุมชนจำนวน 13 แห่ง อนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 156,070 ไร่
นอกจากนี้ยังได้พัฒนาระบบติดตามประเมินผลด้านน้ำของประเทศไทย (Thai Water Assessment: TWA) ซึ่งจะเป็นเครื่องมือชี้วัดความสำเร็จในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างชัดเจน ตรวจสอบได้ ลดความซ้ำซ้อนของโครงการ จากการดำเนินงานของทุกภาคส่วนที่ผ่านมา ขอให้ประชาชนมั่นใจว่ามีโครงการพัฒนาแหล่งน้ำกระจายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศตามความจำเป็นเร่งด่วนอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกัน สทนช.จะพิจารณาแผนงานโครงการโดยยึดปัญหาด้านน้ำเชิงพื้นที่อย่างเป็นระบบ (Area Based) เป็นเกณฑ์สำคัญ มีแผนหลักเป็น Road map ในการแก้ไขปัญหาและขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรม เช่น แผนบรรเทาอุทกภัยลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง
ปัจจุบันมีความคืบหน้าแล้ว 35% โครงการพัฒนาแหล่งน้ำและจัดการทรัพยากรน้ำรองรับเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ขับเคลื่อนแล้ว 21 โครงการ อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อม 17 โครงการ เพื่อรองรับการใช้น้ำในอีก 20 ปีข้างหน้า โครงการฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติขนาดใหญ่ อาทิ บึงบอระเพ็ด จ.นครสวรรค์บึงราชนก จ.พิษณุโลก บึงสีไฟ จ.พิจิตร หนองหาร จ.สกลนคร เป็นต้น
ดร.สุรสีห์ กล่าวอีกว่า ขณะนี้รัฐบาลได้เร่งรัดขับเคลื่อนโครงการขนาดใหญ่และโครงการสำคัญรวม 43 โครงการ โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มแหล่งเก็บกักน้ำได้อีก 646 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่ได้รับประโยชน์ 1.56 ล้านไร่ ประชาชนมีน้ำใช้ในกิจกรรมต่างๆ กว่า 262,000 ครัวเรือน บำบัดน้ำเสียได้ 1.36 ล้าน ลบ.ม./วัน เช่น โครงการอ่างเก็บน้ำลำสะพุงอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.ชัยภูมิ โครงการปรับปรุงคลองยม-น่าน
โครงการประตูระบายน้ำพุง-น้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร โครงการพัฒนาลุ่มน้ำห้วยหลวงตอนล่าง โครงการขยายเขต กปภ.บ้านฉาง รองรับ EEC โครงการบรรเทาอุทกภัยเมืองนครศรีธรรมราชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ แผนหลักการพัฒนาฟื้นฟูคลองแสนแสบ เป็นต้น ควบคู่กับการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นรูปธรรม ยกระดับการมีส่วนร่วม สร้างความเข้มแข็งขององค์กรด้านน้ำตั้งแต่ระดับพื้นที่ ผ่านองค์กรผู้ใช้น้ำ อนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด คณะกรรมการลุ่มน้ำ จนถึงระดับนโยบาย คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.)
พร้อมทั้งได้พัฒนากลไกการกำกับดูแล อำนวยการ สั่งการจัดการน้ำทั้งในภาวะปกติ และภาวะวิกฤต ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือการบริหารจัดการน้ำ ได้แก่ ผังน้ำ คลังข้อมูลน้ำในรูปแบบ One Map ผ่านเว็บไซต์และ application National Thai Water
“จากผลการดำเนินงานข้างต้น ทำให้สถิติความเสียหายภัยจากน้ำลดลงอย่างชัดเจน เช่น ในปี 2562 ซึ่งเป็นปีที่แล้งรุนแรงมาก แต่การบริหารจัดการน้ำในเชิงป้องกัน วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยง และหาแหล่งน้ำสำรอง ทำให้มีหมู่บ้านประกาศภัยแล้งปี 2562 เพียง 30 จังหวัด 891 ตำบล ใน 7,662 หมู่บ้านเท่านั้น น้อยกว่าการบริหารจัดการน้ำในหลายปีที่ผ่านมา และล่าสุดในปี 2564/65 ยังไม่มีประกาศภัยแล้ง ส่วนปัญหาอุทกภัยมีการแจ้งเตือนล่วงหน้า และบริหารจัดการน้ำร่วมกันทำให้ความเสียหายน้อยลง ป้องกันพื้นที่เศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปีแรกที่รัฐบาลเข้ามาบริหารงานมีความเสียหายเพียง 94 ล้านบาท สำหรับปี 2564 ได้จัดตั้งศูนย์ส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ สามารถแจ้งเตือนและบูรณาการช่วยเหลือประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้มีความเสียหายทั่วประเทศเพียง 580 ล้านบาทเท่านั้น” เลขาธิการ สทนช.กล่าว