“เฉลิมชัย” ลงลุยเองแก้ปัญหาคลองท่าดีที่ลานสกา สั่งกรมชลฯก่อสร้างอาคารป้องกันน้ำเซาะตลิ่งตลอดแนว

  •  
  •  
  •  
  •  

รมว.เกษตรฯ ลงลุยเองปัญหาคลองท่าดี อ.ลานสกา จ.นครศรีธรรมราช จี้กรมชลฯ ให้ก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำกัดเซาะแนวตลิ่งจนพังเสียหาย พร้อมเตรียมแผนการพัฒนาลำคลองตลอดสายให้สามารถรับน้ำและระบายน้ำได้มากกว่าเดิม

วันที่ 9 เมษายน 2565  ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างลงใต้ติดตามสภาพปัญหาคลองท่าดี ณ โรงเรียนวัดดินดอน ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ว่า คลองท่าดีเป็นคลองธรรมชาติ ที่ได้ประกาศเป็นทางน้ำชลประทาน มีความยาวคลอง 38.323 กิโลเมตร มีแหล่งต้นน้ำจากเทือกเขาหลวงตัดผ่านพื้นที่การเกษตรหลายพื้นที่ ซึ่งในฤดูน้ำหลากคลองท่าดีมีปริมาณน้ำจำนวนมาก ก่อให้เกิดการกัดเซาะตลิ่งทั้งสองฝั่ง ทำให้พื้นที่การเกษตรและที่พักอาศัยในพื้นที่ หมู่ที่ 3 ตำบลท่าดี อำเภอลานสกา ได้รับความเดือดร้อน

        ดังนั้นกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทานได้พิจารณาจัดทำโครงการอาคารป้องกันตลิ่งบ้านดินดอน เพื่อช่วยเหลือราษฎรและบรรเทาความเดือดร้อนจากน้ำกัดเซาะแนวตลิ่งจนพังเสียหาย ซึ่งจากการตรวจสอบสภาพภูมิประเทศในพื้นที่ และตรวจสอบผลการคำนวณทางด้านวิศวกรรม พร้อมทั้งศึกษาข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เห็นสมควรให้ก่อสร้างอาคารป้องกันตลิ่งชนิดลวดตาข่ายบรรจุหิน ความยาวประมาณ 250 เมตร ซึ่งจะทำให้สามารถป้องกันตลิ่งบริเวณแนวคลองท่าดีได้

นอกจากนี้ ยังติดตามโครงการอาคารป้องกันตลิ่งคลองท่าดี บ้านวัดสมอ ตำบลกำโลน อำเภอลานสกา จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่มีแนวโน้มเกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นจากการถูกน้ำกัดเซาะ จึงมีโครงการก่อสร้าง อาคารป้องกันตลิ่งชนิดลวดตาข่ายบรรจุหิน ความยาวประมาณ 600 เมตร ซึ่งกรมชลประทานได้มีการจัดทำแผนพัฒนาลุ่มน้ำประชารัฐ โดยได้บรรจุแผนงานป้องกันตลิ่งและฝายชะลอน้ำเข้าไปด้วย และนำโครงการปรับปรุงอาคารป้องกันตลิ่งและฝายชะลอน้ำคลองท่าดี บ้านวัดสมอ เข้าอยู่ในแผนด้วย หากดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถป้องกันการกัดเซาะของตลิ่งจากน้ำหลากบริเวณบ้านวัดสมอในช่วงฤดูน้ำหลาก และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง

จากการติดตามปัญหาคลองท่าดีในวันนี้ จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งนอกจากการก่อสร้างอาคารป้องกันการกัดเซาะตลิ่งแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาคลองท่าดีตลอดสายให้สามารถรับน้ำและระบายน้ำได้มากกว่าเดิมด้วย โดยจะต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์สูงสุด” ดร.เฉลิมชัย กล่าว