พบจะจะ ล้งรับซื้อทุเรียนอ่อนส่งไปจีนที่เมืองจันท์ ยันต้องดำเนินคดีอาญา-เพิกถอนใบรัฐรองGAP

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมวิชาการเกษตร นำกำลังเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบทั้งสวน-ล้งรับซื้อทุเรียนภาคตะวันออกตามมาตรฐานที่ต้องมีคุณภาพ ปลอดศัตรูพืช และเชื้อโควิด ล่าสุดร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอท่าใหม่ จันทบุรี ลุยล้งรับซื้อทุเรียนอ่อนเพื่อไปยังประเทศจีน ยึดของกลางได้ 3 ตัน ยืนยันต้องลงโทษทั้งอาญา และถึงขั้นเพิกถอนใยรับรอง GAP ทั้งผู้ประกอบการและเกษตรกร

       วันที่ 14 มีนาคม  2565 นายระพีภัทร์  จันทรศรีวงศ์  อธิบดีกรมวิชาการเกษตร  พร้อมด้วยนายสุธี  ทองแย้ม  ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี ร่วมแถลงข่าวถึงกรณีการจับกุมและดำเนินคดีกับผู้ที่ตัดทุเรียนไม่ได้คุณภาพ(อ่อน) เพื่อการส่งออก ณ สถานีตำรวจภูธรท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

         ทั้งนี้ได้รับแจ้งเบาะแสจากพลเมืองดีว่า มีล้งทุเรียนแห่งหนึ่งตั้งอยู่ที่ อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี มีการรับซื้อทุเรียนด้อยคุณภาพ (ทุเรียนอ่อน) เพื่อนำส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศจีน  ชุดเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาทุเรียนด้อยคุณภาพ จังหวัดจันทบุรี  จึงได้เข้าไปดำเนินการตรวจสอบล้งทุเรียนตามที่ได้รับแจ้งดังกล่าว  ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ได้ขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืชกับกรมวิชาการเกษตร

จากการตรวจสอบพบทุเรียนอ่อนในโรงคัดบรรจุดังกล่าว 3 ตัน ซึ่งนอกจากจะมีการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญาที่ระบุในคำสั่งจังหวัดจันทบุรีแล้ว ในส่วนของกรมวิชาการเกษตรก็จะมีการดำเนินการกับเกษตรกรและโรงคัดบรรจุที่ขึ้นทะเบียน โดยเกษตรกรเจ้าของผลผลิตทุเรียนด้อยคุณภาพที่อายัดไว้  ตรวจสอบแล้ว พบว่าได้รับการรับรอง GAP จาก สวพ.6 กรมวิชาการเกษตร พื้นที่การผลิต จำนวน 3 ไร่

       หากสืบสวนแล้วปรากฏว่ามีเจตนาให้ตัดผลผลิตไม่ได้คุณภาพ หรือเพิกเฉยไม่คัดค้านการนำผลผลิตที่ไม่ได้คุณภาพของตนออกสู่ท้องตลาด  เกษตรกรผู้ได้รับการรับรองไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการรับรองแหล่งผลิต GAP พืช เจ้าหน้าที่จะเสนอข้อมูลเสนอต่ออธิบดีหรือผู้ได้รับมอบหมาย  มีอำนาจสั่งพักใช้ใบรับรอง หรือ เพิกถอน ใบรับรอง GAP  ในส่วนของโรงคัดบรรจุก็จะมีการดำเนินการเช่นเดียวกันภายใต้ประกาศกรมวิชาการเกษตรเรื่อง การขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช

นายระพีภัทร์  กล่าวว่า  กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีนโยบายหลักที่จะผลักดันและสนับสนุนให้การส่งออกผลไม้ไปต่างประเทศมีความคล่องตัวและพร้อมที่จะแก้ไขปัญหาอุปสรรคต่างๆ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน  ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่นางสาวมนัญญา  ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในฐานะที่กำกับดูแลกรมวิชาการเกษตรได้มอบหมายให้ลงพื้นที่พร้อมด้วยนายภัสชญภณ  หมื่นแจ้ง รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร

         ทั้งนี้เพื่อติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานการส่งออกผลไม้ภาคตะวันออกฤดูกาลผลิตปี 2565 โดยเฉพาะทุเรียนซึ่งกำลังมีผลผลิตออกสู่ท้องตลาดในขณะนี้  เนื่องจากกรมวิชาการเกษตรมีภารกิจหลักในการตรวจสอบศัตรูพืชไม่ให้ติดปนเปื้อนไปกับผลผลิตที่จะส่งออก รวมทั้งปัจจุบันจีนยังได้กำหนดมาตรการเพิ่มเติมให้เข้มงวดตรวจสอบป้องกันไม่ให้มีเชื้อไวรัสโควิด-19 ปนเปื้อนไปกับผลผลิตด้วย

ในด้านการป้องกันทุเรียนด้อยคุณภาพหรือทุเรียนอ่อนไม่ให้มีการลักลอบส่งออกเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญซึ่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตร ได้กำชับให้กรมวิชาการเกษตรกำกับดูแลคุณภาพและมาตรฐานป้องกันไม่ให้มีสินค้าด้อยคุณภาพหรือทุเรียนอ่อนหลุดรอดไปถึงผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ   ซึ่งกรมวิชาการเกษตร ได้มอบหมายให้หน่วยงานในพื้นที่คือ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 6 จันทบุรีให้ความร่วมมือดำเนินการป้องกันและตรวจสอบร่วมกับจังหวัดจันทบุรี ตามประกาศการกำหนดเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียน

      โดยใช้ค่ามาตรฐานเปอร์เซ็นต์น้ำหนักแห้งในเนื้อทุเรียนตามมาตรฐานสินค้าเกษตรเรื่องทุเรียนซึ่งระบุว่า ทุเรียนพันธุ์กระดุม ไม่น้อยกว่า 27 % พันธุ์ชะนีและพันธุ์พวงมณี ไม่น้อยกว่า30% และพันธุ์หมอนทองไม่น้อยกว่า 32% ถ้าเปอร์เซ็นต์ต่ำกว่านี้ ถือว่าเป็นทุเรียนอ่อน

“ขอเน้นย้ำว่าทางกระทรวงเกษตรฯ ให้ความสำคัญกับคุณภาพมาตรฐานการส่งออกไปยังประเทศคู่ค้าเป็นอย่างมาก  จึงขอความร่วมมือให้เกษตรกรและผู้ประกอบการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการส่งออกของประทศคู่ค้าอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะการปฏิบัติตาม  GMP Plus (มาตรการ GMP + Covid-19 ) การปฏิบัติในโรงคัดบรรจุที่ดีตามมาตรฐาน GMP และตามมาตรการการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด 19 เพื่อตอกย้ำความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้าเกษตรไทยมีความปลอดภัยต่อการบริโภคทั้งในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศ” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว