เลขาฯ สทนช. เผยรองนายกฯ “พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ” ย้ำรัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำ เพื่อให้ทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดความมั่นคงสูงสุด เน้นใช้งบอย่างคุ้มค่า พร้อมเร่งสร้างความมั่นคงด้านน้ำ เพิ่มพื้นที่ชลประทานอีก 18 ล้านไร่ พร้อมยืนยันไม่เก็บค่าน้ำจากเกษตรกร
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ทางพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ได้เน้นย้ำว่า รัฐบาลให้ความสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างด้านน้ำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดความมั่นคงสูงสุดและประชาชนได้รับประโยชน์ โดยเพิ่มพื้นที่ชลประทานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่ที่พัฒนาเป็นพื้นที่ชลประทานแล้ว 33.92 ล้านไร่ คิดเป็นร้อยละ 22.7 ของพื้นที่เกษตรทั้งหมด
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล
นอกจากนี้มีเป้าหมายที่จะพัฒนาพื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นอีก 18 ล้านไร่ ภายในปี 2580 ตามแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี โดยตั้งแต่ปี 2561-2564 เพิ่มพื้นที่ชลประทานได้แล้ว 1.17 ล้านไร่ สำหรับการพัฒนาพื้นที่เกษตรน้ำฝนรัฐบาลได้มุ่งเน้นการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก ฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ พัฒนาน้ำบาดาล สระน้ำในไร่นา โคกหนองนาโมเดล เพื่อสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยยึดหลักให้เป็นไปตามความต้องการและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่
ส่วนกรณีที่มีการห่วงใยมีข้อกังวลในเรื่องการจัดเก็บค่าน้ำที่จะกระทบถึงประชาชนและเกษตรกรรายย่อยนั้น สทนช.ขอชี้แจงว่า พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ผู้ใช้น้ำประเภทที่ 1 ได้แก่ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการดำรงชีพ อุปโภคบริโภคในครัวเรือน ทำเกษตรหรือเลี้ยงสัตว์เพื่อยังชีพ รวมถึงอุตสาหกรรมในครัวเรือน รักษาระบบนิเวศ จารีตประเพณี บรรเทาสาธารณภัย คมนาคม และการใช้น้ำในปริมาณเล็กน้อย ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการใช้น้ำและไม่ต้องชำระค่าใช้น้ำแต่อย่างใด
ดังนั้น จึงไม่มีการเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรอย่างแน่นอน แต่จะเก็บเฉพาะประเภทที่ 2 คือ การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อการอุตสาหกรรม และประเภทที่ 3 การใช้ทรัพยากรน้ำสาธารณะเพื่อกิจการขนาดใหญ่ที่ใช้น้ำปริมาณมาก โดยกำหนดอัตราค่าใช้น้ำจะมีความเป็นธรรม ไม่แสวงหากำไร เป็นการดำเนินการเพื่อให้ผู้ใช้น้ำได้มีจิตสำนึกในการใช้น้ำร่วมกันอย่างประหยัดเท่านั้น
ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำร่างกฎหมายลำดับรองในการกำหนดหลักเกณฑ์การจัดเก็บค่าน้ำประเภทที่ 2 และประเภทที่ 3 ที่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำฯ ซึ่งต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ตามกฏหมายต่อไป.