สทนช.เร่งเดินหน้าคัดสรรคณะกรรมการลุ่มน้ำใหม่ทั้ง 22 ลุ่มน้ำคาดแล้วเสร็จ มี.ค.นี้ ก่อนคัดเลือกเป็นกรรมการลุ่มน้ำใน กนช. หวังสร้างการมีส่วนร่วมเสริมจุดแข็งการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเบ็ดเสร็จในแต่ละลุ่มน้ำ สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนในพื้นที่และสถานการณ์ปัจจุบัน
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ สทนช.ได้เร่งดำเนินการคัดเลือกและสรรหาคณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ได้แก่ กรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ กรรมการผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมีนาคม 2565 ก่อนเข้าสู่ขั้นตอนการคัดเลือกกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) รวมจำนวน 6 คน ประกอบด้วย กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 1 คน กรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ 4 คน และกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน โดยคาดว่าจะสามารถประกาศรายชื่อผู้ได้รับคัดเลือกทั้ง 6 คน ภายในเดือนเมษายนนี้
ล่าสุดการสรรหากรรมการลุ่มน้ำโดยตำแหน่ง ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น และผู้แทนจากหน่วยภาครัฐ 13 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งมีผู้แทนลุ่มน้ำละ 9 คน แบ่งเป็นภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน ได้มีการประชุมคัดเลือกเรียบร้อยแล้ว จะสามารถประกาศแต่งตั้งได้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายในเดือนมกราคมนี้ ขณะที่การสรรหากรรมการผู้แทนองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) อยู่ระหว่างการดำเนินการประชุมคัดเลือกผู้แทน ลุ่มน้ำละ 1 คน
ทั้งนี้เพื่อเป็นผู้แทนของแต่ละจังหวัดในเขตลุ่มน้ำนั้น คาดว่าจะดำเนินการประชุมคัดเลือกแล้วเสร็จภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 และประกาศรายชื่อผู้ได้รับการคัดเลือกได้ครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายในเดือนมีนาคม 2565 เช่นเดียวกันกับกรรมการลุ่มน้ำผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ ซึ่งขณะนี้ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาแล้ว และอยู่ระหว่างการประกาศรับสมัคร โดยผู้ที่สนใจสมัครได้ภายในวันที่ 31 มกราคม 2565 หลังจากนั้นจะดำเนินการสรรหาผู้ทรงคุณวุฒิลุ่มน้ำละ 4 คน ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศแต่งตั้งภายในเดือนมีนาคม 2565 เช่นกัน
เลขาธิการ สทนช. กล่าวอีกว่า หลังจากได้คณะกรรมการลุ่มน้ำใหม่ทั้ง 4 ประเภทครบทั้ง 22 ลุ่มน้ำหลักภายในเดือนมีนาคมนี้ และกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำใน กนช. ชุดแรกของประเทศ ภายใต้ พ.ร.บ.ฯ น้ำ พ.ศ. 2561 ที่จะเกิดขึ้นภายในเดือนเมษายนนี้ จะทำให้การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศอยู่บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างแท้จริง เป็นไปตามความต้องการของประชาชนในท้องถิ่น และสอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน สามารถแก้ปัญหาในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุด รวมทั้งตอบสนองต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม ตลอดจนการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อีกด้วย ซึ่งจะช่วยให้การพัฒนาและบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพครอบคลุมทุกมิติมากยิ่งขึ้น ตรงตามเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561