สทนช. นำทีมคณะทำงานไทย เข้าร่วมการอบรมทางเทคนิคแบบเข้มข้นครั้งที่ 4 เรื่อง “สมุดแผนที่ลุ่มน้ำ 9C-9T” ผลักดันคลังข้อมูลสำหรับวางแผนแก้ปัญหาอุทกภัยและภัยแล้ง ในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยโตนเลสาบ ภายใต้โครงการร่วมบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่ชายแดนไทย-กัมพูชา
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า สำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ได้ดำเนินโครงการร่วมบริหารจัดการอุทกภัยและภัยแล้ง พื้นที่ชายแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชาตั้งแต่ปี 2561 โดยการสนับสนุนจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการข้ามพรมแดนระหว่าง 2 ประเทศ รวมทั้งเสริมสร้างความยืดหยุ่นของชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่ลุ่มน้ำย่อยโตนเลสาบ 9C-9T ซึ่งเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำข้ามเขตแดน อยู่ในบริเวณจังหวัดสระแก้วและจันทบุรี ของๆทยและจังหวัดบันทายมีชัย หรือบันเตียเมียนเจย พระตะบอง และไพลิน ของกัมพูชา ซึ่งยังคงประสบกับปัญหาอุทกภัย ภัยแล้ง และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สำหรับการดำเนินโครงการแบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การประเมินพื้นที่ลุ่มน้ำที่ประสบปัญหา เพื่อกำหนดเป็นแผนงาน ระยะที่ 2 วิเคราะห์ข้อมูลพื้นที่ กำหนดแนวทาง มาตรการแก้ไขบรรเทาปัญหา การจัดทำแผนบริหารจัดการลุ่มน้ำร่วมกันทั้งสองประเทศ และการจัดหาแหล่งเงินทุนภายนอกนำมาสมทบกับเงินทุนภาครัฐ ระยะที่ 3 การพัฒนาโครงการตามแผนบริหารจัดการน้ำร่วมกัน โดยขณะนี้ใกล้เสร็จสิ้นการดำเนินโครงการในระยะที่ 2 แล้ว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา ศูนย์การจัดการสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ (ICEM) ได้จัดทำสมุดแผนที่ลุ่มน้ำ 9C-9T เพื่อใช้เป็นคลังข้อมูลและสารสนเทศแบบออนไลน์ สำหรับวางแผนและประเมินทรัพยากรน้ำ รวมทั้งยังเป็นเครื่องมือสนับสนุนการตัดสินใจในกระบวนการวางแผนบริหารจัดการน้ำท่วมและภัยแล้ง ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะทำงานไทย ประกอบด้วย ผู้แทนจาก สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา กองกำลังบูรพา กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช GISTDA ฯลฯ รวมถึงที่ปรึกษาระดับประเทศ ร่วมการอบรมทางเทคนิคผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ จัดขึ้นโดย MRCS ณ สปป.ลาว
ทั้งนี้เพื่อเป็นการปรับฐานความรู้ความเข้าใจทางเทคนิค เกี่ยวกับการใช้สมุดแผนที่ลุ่มน้ำ 9C-9T รวมทั้งได้ทดลองและให้ข้อคิดเห็นเพื่อนำไปปรับปรุงพัฒนาสมุดแผนที่และการดำเนินโครงการร่วมฯ ในระยะที่ 3 ต่อไป
ดร.สุรสีห์ กล่าวอีกว่า สมุดแผนที่ลุ่มน้ำ 9C-9T เป็นแหล่งรวบรวมชุดข้อมูลที่สำคัญ เช่น ข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อม สังคม เศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำหรับการวิเคราะห์ปัญหาด้านน้ำทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง เพื่อนำไปสู่การวางแผนเพื่อตอบสนองต่อปัญหาตั้งแต่ระดับพื้นที่ไปสู่ระดับลุ่มน้ำ รวมถึงยังสามารถใช้สมุดแผนที่เชิงยุทธศาสตร์เพื่อประเมินทรัพยากรน้ำในระดับต่าง ๆ ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น ระดับลุ่มน้ำย่อย ระดับลุ่มน้ำ ไปจนถึงระดับทวิภาคี เพื่อนำไปสู่การระบุทางเลือกเพื่อบริหารจัดการน้ำร่วมกัน
นอกจากนี้ สมุดแผนที่ยังสามารถใช้ประโยชน์ในการวางแผนภูมิทัศน์ขนาดใหญ่และการวางแผนเชิงพื้นที่ เพื่อให้เกิดการคุ้มครองและพัฒนาพื้นที่ในแต่ละโซนอย่างยั่งยืนด้วย โดยในอนาคตจะมีการปรับปรุงและพัฒนาสมุดแผนที่ให้สามารถใช้ประโยชน์ครอบคลุมถึงการพยากรณ์และติดตามสถานการณ์น้ำ ซึ่งสมุดแผนที่จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงน้ำให้แก่พื้นที่ลุ่มน้ำชายแดนของทั้งสองประเทศต่อไป