คาร์กิลล์ จับมือ UNDP-มรภ.สุราษฎร์ฯ ผุดโครงการ “SeaShine” หวังลดขยะลงทะเล

  •  
  •  
  •  
  •  

“คาร์กิลล์” ผู้นำธุรกิจนวัตกรรมอาหารและเกษตรกรรมของโลก ประกาศเปิดตัวโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม “SeaShine” ร่วมมือกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ และมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี หวังลดปริมาณขยะเปียกและขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล  เริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2565 คาดจะช่วยลดปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชนรอบๆ มรภ.สุราษฎร์ธานี ที่มีถึง 63 ตันต่อเดือน

        นางสาวมาร์โก เดอ นาราย กรรมการผู้จัดการคาร์กิลล์โภชนาการอาหารสัตว์น้ำประเทศไทยและเวียดนาม กล่าวว่า  คาร์กิลล์มีส่วนร่วมในการสร้างความแข็งแกร่งและพัฒนาชุมชนในประเทศไทยมาเป็นระยะเวลานาน  และในครั้งนี้ร่วมมือกับสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program ) หรือ UNDP และมหาวิทยาลัยราชภัฎสุราษฎร์ธานี ดำเนินโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม “SeaShine” เพื่อลดปริมาณขยะเปียกและขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงทะเล จะเริ่มดำเนินการในเดือนมกราคม 2565  เพื่อช่วยลดปัญหาขยะในพื้นที่ชุมชนรอบๆ มรภ.สุราษฎร์ธานี ที่มีถึง 63 ตันต่อเดือน

ความร่วมมือครั้งนี้จะทำให้ความสัมพันธ์ของเราและประเทศไทยมีความแน่นแฟ้นมากขึ้นทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึกโดยเฉพาะความร่วมมือในการจัดการความท้าทายยิ่งใหญ่ที่ประเทศกำลังเผชิญอยู่  โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นของคาร์กิลล์ที่จะสร้างพันธมิตรและร่วมมือในการกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ทะเล และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของบริษัทฯ ที่จะส่งเสริมความสมบูรณ์ของโลกอย่างปลอดภัย ด้วยความรับผิดชอบ และด้วยแนวทางที่นำไปสู่ความยั่งยืน” นางสาวมาร์โก กล่าว

   ทั้งนี้ช่วงที่เกิดการระบาดของเชื้อโควิด-19 ปริมาณขยะพลาสติกเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะจากมาตรการล็อคดาวน์ทั่วประเทศ และการทำงานที่บ้าน   สำหรับในจังหวัดสุราษฎร์ธานีซึ่งเป็นที่ตั้งของ มรภ.สุราษฎร์ธานีเอง คาดว่าปริมาณขยะที่จะต้องถูกฝังกลบในพื้นที่ใกล้เคียงจะมีมากถึง 426 ตันในปี 2564 นี้

      ด้านนายเรอโนด์ เมแยร์ ผู้แทนUNDP  ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ยูเอ็นดีพี ยินดีที่ได้ร่วมเป็นพันธมิตรกับคาร์กิลล์ในการดำเนินโครงการสำคัญซึ่งเป็นนวัตกรรมในการกำจัดขยะเช่นนี้   การลดปริมาณขยะพลาสติกและขยะเปียกจะช่วยให้ชุมชนชายฝั่งทะเลมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และช่วยให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืนในระยะยาว  โครงการนี้แสดงให้เห็นว่าเราสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีในการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนหรือ SDGภายในท้องถิ่นได้ด้วยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน”

  สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว หน่วยงานด้านSDGและนักศึกษาอาสาสมัครจะทำงานร่วมกันในการพัฒนาระบบไอทีเพื่อบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับขยะของคนในชุมชนเป็นรายคน ก่อนจะนำข้อมูลนั้นมาแปลงเป็นประโยชน์ที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น ปริมาณการลดก๊าซเรือนกระจก  และปริมาณขยะที่นำมารีไซเคิล เป็นต้น  และแสดงผลข้อมูลบนแดชบอร์ดที่เปิดให้ทุกคนได้เห็น และติดตามความคืบหน้าของโครงการได้สะดวกด้วย