ประกาศ ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้
กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ
ฉบับที่ 6/2564
เรื่อง เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำจังหวัดนราธิวาส
ด้วยศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ติดตามสถานการณ์ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในพื้นที่ภาคใต้ ลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่างโดยเฉพาะพื้นที่จังหวัดนราธิวาส มีฝนตกหนักอย่างต่อเนื่องในทุกอำเภอ วัดปริมาณน้ำฝน 24 ชั่วโมงได้สูงสุด 169 มิลลิเมตร ที่ตำบลบางนาค อำเภอเมืองนราธิวาส และที่ตำบลเจ๊ะเห อำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส วัดปริมาณน้ำฝนได้ 131 มิลลิเมตร ทำให้มีปริมาณน้ำสะสมไหลลงแม่น้ำมากขึ้น ประกอบกับตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา 24 ชั่วโมงข้างหน้า มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือกำลังค่อนข้างแรงยังคงพัดปกคลุมประเทศไทยและอ่าวไทย ในขณะที่ร่องมรสุมพาดผ่านประเทศมาเลเซีย ทำให้ภาคใต้ตอนล่างยังคงมีฝนตกหนักบางแห่ง
ศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่ภาคใต้ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติได้ประเมินและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ (ONE MAP) ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน)ร่วมกับคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้าในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่ตกสะสม และฝนที่ตกอย่างต่อเนื่อง จึงขอเน้นย้ำให้เฝ้าระวังระดับน้ำที่เพิ่มขึ้นเสี่ยงน้ำล้นสูงกว่าตลิ่งไหลเข้าท่วมพื้นที่ลุ่มต่ำในจังหวัดนราธิวาส ในช่วงวันที่ 4 – 5 ธันวาคม 2564 ดังนี้
1.คลองตันหยงมัสบริเวณบ้านตันหยงมัส บ้านไท บ้านแกแม ตำบลตันหยงมัส อำเภอระแงะ บ้านมะนังกาหยี ตำบลมะนังตายอ ตำบลลำภู ตำบลบางปอ อำเภอเมืองนราธิวาส และบ้านทุ่งคา บ้านโต๊ะแมบ้านปูตะ ตำบลละหาร อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส คาดการณ์ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งประมาณ 0.30 – 0.70 เมตร
2.แม่น้ำโก-ลกบริเวณชุมชนท่าโรงเลื่อย ชุมชนท่าประปา เขตเทศบาลสุไหงโก-ลก ชุมชนตลาดบ้านมูโนะ ตำบลมูโนะ อำเภอสุไหงโก-ลก และอำเภอตากใบ จังหวัดนราธิวาส คาดการณ์ระดับน้ำสูงกว่าตลิ่งประมาณ 0.30 – 0.50 เมตร
ในการนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องโปรดดำเนินการ ดังนี้ 1.ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ
2.ปรับแผนบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์น้ำ พร้อมพิจารณาความเหมาะสมในการระบายน้ำในลำน้ำ/แม่น้ำให้สอดคล้องกับการขึ้น – ลงของระดับน้ำทะเล
3.ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงแนวคันบริเวณริมแม่น้ำและกำจัดสิ่งกีดขวางทางน้ำ เพื่อเตรียมความพร้อมรับน้ำหลากป้องกันน้ำท่วมให้สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
4.เตรียมแผนรับสถานการณ์น้ำหลาก เตรียมความพร้อมบุคลากร เครื่องจักรเครื่องมือ รวมถึงความพร้อมของระบบสื่อสารสำรอง เพื่อบูรณาการความพร้อมให้ความช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนได้ทันที
5.ประชาสัมพันธ์สถานการณ์น้ำ และแจ้งเตือนล่วงหน้า ให้ประชาชนที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ เตรียมพร้อมในการอพยพได้ทันท่วงทีหากเกิดสถานการณ์
ประกาศ ณ วันที่ 3 ธันวาคม 2564