ดัน 3 จังหวัด นำร่องประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยางพารา

  •  
  •  
  •  
  •  

นายกสหพันธ์ชาวสวนยางฯ จับมือ EEC และองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เดินหน้าขับเคลื่อนการจัดทำหลักเกณฑ์การประเมินคาร์บอนเครดิต ในพื้นที่สวนยาง สร้าง Pilot Project นำร่องในพื้นที่ 3 จังหวัดในเขต EEC  หวัฃรายได้เสริมให้เกษตรกรชาวสวนยางำารา

    นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย พร้อมด้วยคณะที่ปรึกษาสมาคมฯ ร่วมประชุมหารือกับกับ ดร.เกษมสันต์ จิณณวาโส ที่ปรึกษาพิเศษ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ดร.วีระชัย นาควิบูลย์วงศ์ ที่ปรึกษาพิเศษ ด้านการพัฒนาเมืองใหม่ พร้อมด้วยคณะผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกับสวนยางพารา ร่วมประชุมกับ นายเกียรติชาย ไมตรีวงษ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ดร.พฤฒิภา โรจน์กิตติคุณ ผู้อำนวยการสำนักประเมินและรับรองโครงการ และเจ้าหน้าที่เมื่อเร็วๆนี้  เพื่อหารือการจัดเตรียมการทำข้อเสนอในการศึกษาและประเมินการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์แบบสมัครใจ ตามมาตรฐานของประเทศไทย (T-VER) ภาคป่าไม้และภาคการเกษตร สรุปประเด็นจากที่ประชุม ดังนี้

     1) องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) นำเสนอโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER) ซึ่งเป็นกลไกที่ อบก. พัฒนาขึ้น เพื่อสนับสนุนให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยความสมัครใจ โครงการ T-VER แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่ 1) การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน 2) พลังงานทดแทน 3) การจัดการของเสีย 4) การจัดการในภาคขนส่ง 5) การปลูกป่า/ต้นไม้ 6) การอนุรักษ์หรือฟื้นฟูป่า 7) การเกษตร โดยนำเสนอภาคป่าไม้ และภาคการเกษตร ซึ่งประกอบด้วยขั้นตอนการพัฒนาโครงการ การขึ้นทะเบียนโครงการ และการขอรับรองคาร์บอนเครดิต พร้อมทั้งแนวคิดการคำนวณและหลักเกณฑ์การพิจารณา (ระเบียบวิธีการคำนวณการลดก๊าซเรือนกระจก) และมีการนำเสนอรายละเอียดหลักเกณฑ์การพิจารณาฯ สำหรับการปลูกพืชเกษตรยืนต้น ดังนี้

                                                      อุทัย สอนหลักทรัพย์
• ลักษณะกิจกรรมที่เข้าข่าย :
     1. เป็นพื้นที่สำหรับการปลูกพืชเกษตรยืนต้น ที่มีการปลูก ดูแล และจัดการอย่างถูกวิธี
     2. เป็นพื้นที่การเกษตรที่ปรับการใช้ปุย และ/หรือ สารปรับปรุงดินอย่างถูกต้องและเหมาะสม
     3. เป็นการปลูกพืชเกษตรยืนต้น ที่มีรูปแบบการปลูกเป็นสวนเชิงเดี่ยว หรือเป็นสวนผสม
     4. เป็นรูปแบบการปลูกพืชเกษตรยืนต้นที่ต้องมีบำรุงรักษาอยู่อย่างสม่ำเสมอเพื่อรักษาผลผลิตให้ได้อย่างต่อเนื่อง

เงื่อนไขของกิจกรรม :
    1. มีหนังสือแสดงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินตามกฎหมาย
    2. เป็นพื้นที่ที่ใช้ประโยชน์ที่ดินเหมาะสมกับเขตการใช้ที่ดิน
    3. ไม่เป็นพื้นที่เสี่ยงต่อดินถล่ม
    4. มีข้อมูลการใช้ปุ๋ย และ/หรือ สารปรับปรุงดินย้อนหลังในพื้นที่โครงการหรือข้อมูลอ้างอิงจากพื้นที่ใกล้เคียง ไม่น้อยกว่า 3 ปี
    5. ในกรณีที่ไม่มีข้อมูลการใช้ปุ๋ยใน ข้อ 4. สามารถใช้ข้อมูลอ้างอิงจากหน่วยงานราชการ ค่าจากงานวิจัย หรือ ค่าอ้างอิงที่ อบก. ให้การยอมรับ
    6. ไม่เป็นพื้นที่ที่มีการตัดพืชเกษตรยืนต้นออกก่อนครบอายุรอบการผลิต/รอบตัดฟัน เพื่อทำการปลูกพืซเกษตรยืนต้นรอบใหม่

    2)ความเห็นที่ปรึกษา : ความเห็นและข้อสังเกตต่อแนวทางการดำเนินโครงการ T-VER 3 ประเด็น คือ 2.1) สกพอ. สนใจเป็นหน่วยงานขับเคลื่อนโครงการ T-VER ภาคการเกษตร เนื่องจากพื้นที่ อีอีซี มีพื้นที่ ทางการเกษตร เช่น สวนผลไม้ สวนยางพารา สำหรับโครงการ T-VER ภาคป่าไม้ มี อบก. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องขับเคลื่อนแล้ว

     สำหรับพื้นที่เกษตรที่เป็นสวนยางพารามีข้อสรุปร่วมกันว่าอบก.จะจัดทำหลักเกณฑ์ การประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยาง โดยอิงจากหลักเกณฑ์สากลที่ใช้อยู่ในหลายๆ ประเทศ แล้วต่อจากนั้น จะได้นำมาหารือกันอีกครั้งระหว่าง ฝ่าย อบก. ฝ่าย EEC และ ดร.อุทัย สอนหลักทรัพย์ นายกสมาคมสหพันธ์ชาวสวนยางแห่งประเทศไทย เพื่อนำไปสู่ภาคปฏิบัติต่อไป นับว่าเป็นข่าวดีของชาวสวนยางเมื่อได้ต้นแบบการดำเนินการดังกล่าวเป็น Pilot Project แล้วในอนาคตก็จะได้นำไปขยายผลในพื้นที่สวนยางทั่วประเทศจำนวน 30 ล้านไร่ ต่อไป

    ทั้งนี้สืบเนื่องมาจากที่ผ่านมา นายอุทัย ได้ร่วมประชุม คณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ ซึ่งมี พลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานท่านให้ความสำคัญกับการกักเก็บคาร์บอนเครดิต สำหรับพื้นที่สวนยางพารา ซึ่งมีประมาณ 30 ล้านไร่ คาดการณ์จะได้คาร์บอนเครดิต 51,240 ล้านตัน คิดเป็นรายได้ให้กับชาวสวนยางถึง 49,190 ล้านบาท

      ต่อมานายอุทัยได้เสนอเป็นหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ผลคือนายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งให้ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบท) นัดหารือกับนายอุทัย เพื่อสร้างความมั่นใจใน การดำเนินงาน วิธีการ ข้อกำหนดเงื่อนไขต่างๆ รวมทั้ง ปัญหาอุปสรรค ในการประเมินการกักคาร์บอนเครดิตในพื้นที่สวนยาง ซึ่งได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2564 ผ่านระบบ Conference ระหว่าง นายอุทัย  และผู้แทนองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.)

     ผลการประชุมมีข้อสรุปว่าควรจัดทำ Pilot Project นำร่องพื้นที่สวนยางในพื้นที่ EEC จังหวัด ระยอง ฉะเชิงเทรา และชลบุรี ที่เข้าเงื่อนไข มีประมาณ 1.5 ล้านไร่ เนื่องด้วยเหตุผล ในเขต EEC มีกลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมที่มีความต้องการใช้ประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต หากมีการ Matching กันในการซื้อขายได้จริง ก็จะขยายผลไปยังพื้นที่สวนยางทั่วประเทศที่มีประมาณ 30 ล้านไร่ เมื่อมีความชัดเจน ที่มุ่งเป้าไปที่พื้นที่สวนยางในเขต EEC เป็นผลให้ผู้บริหารโครงการ EEC เห็นด้วยในครั้งนี้ จึงเกิดการผลักดับขับเคลื่อนร่วมกันในวันนี้ขึ้นมา