กรมชลฯ เผยโครงการเพิ่มปริมาณน้ำลงในเขื่อนแม่กวงฯ คืบหน้า 65% ยันเสร็จในปี 67

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลฯ เผยความคืบหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างฯเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ด้วยผ่านอุโมงค์ชั้นหินยาวที่สุดในประเทศไทย 49 กม. เดินหน้าไปแล้ว 65% ระบุหากเสร็จโครงการสามารถเพิ่มต้นทุนเข้าอ่างฯ เฉลี่ย 160 ล้าน ลบ.ม.เกษตรกรจะมีน้ำเพื่อเพาะปลูกในฤดูแล้งเพิ่ม จาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ และยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ได้ประมาณร้อยละ 70

    วันที่10 พฤศจิกายน 2564 นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้ทำการประชุมติดตามความก้าวหน้าโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ ที่ห้องประชุมสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายจิตะพล รอดพลอย ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 1 ผู้แทนจากบริษัทผู้รับจ้าง และผู้เกี่ยวข้องให้การต้อนรับ พร้อมรายงานปัญหาอุปสรรคตลอดจนผลการดำเนินโครงการฯ

     นายชูชาติ  กล่าวว่า จากการเติบโตด้านการท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และการขยายตัวของชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูนเป็นไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้มีความต้องการใช้น้ำในปริมาณที่สูงกว่า ปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา ทำให้เกิดปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นปริมาณปีละ 137 ล้านลูกบาศก์เมตร และในอนาคต (20 ปีข้างหน้า) มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนน้ำมากถึงปีละ 173 ล้านลูกบาศก์เมตร

     ดังนั้นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของราษฎรในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดลำพูน และเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำทั้งในด้านเกษตรกรรม อุปโภค บริโภค การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรม กรมชลประทาน จึงดำเนินโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราขึ้น ด้วยการผันน้ำส่วนเกินช่วงฤดูน้ำหลากในลำน้ำแม่แตง แม่งัด เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว ปัจจุบันมีผลการดำเนินรวมทั้งโครงการประมาณ 65% คาดแล้วเสร็จพร้อมใช้งานทั้งโครงการในปีงบประมาณ 2567 ที่จะถึงนี้

     สำหรับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา เป็นการก่อสร้างอุโมงค์ส่งน้ำในชั้นหินที่มีความยาวมากที่สุดในประเทศไทยประมาณ 49 กิโลเมตร ทำหน้าที่ผันน้ำส่วนเกินช่วงฤดูน้ำหลาก(เดือนกรกฎาคม–พฤศจิกายนของทุกปี) ในลำน้ำแม่แตงผ่านอุโมงค์ช่วงแรกเรียกว่าอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่แตง-แม่งัด ความยาวประมาณ 26 กิโลเมตร มาพักไว้ที่เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล จากนั้นปริมาณน้ำส่วนนี้จะรวมกับปริมาณน้ำบางส่วนในเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล ส่งผ่านอุโมงค์ช่วงที่ 2 เรียกว่าอุโมงค์ส่งน้ำช่วงแม่งัด-แม่กวง ความยาวประมาณ 23 กิโลเมตร ไปลงเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้ปริมาณน้ำปีละ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร

      หากโครงการดังกล่าวก่อสร้างแล้วเสร็จ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธาราได้เฉลี่ยประมาณ 160 ล้านลูกบาศก์เมตร ทั้งยังช่วยเพิ่มเสถียรภาพการส่งน้ำในช่วงฤดูฝนได้กว่า 175,000 ไร่ ของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาเขื่อนแม่กวงอุดมธารา นอกจากนี้ ยังช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งในเขตชลประทานของโครงการฯ จาก 17,060 ไร่ เป็น 76,129 ไร่ และยังช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตตัวเมืองเชียงใหม่ได้ประมาณร้อยละ 70 รวมทั้งสามารถส่งน้ำไปช่วยพื้นที่ชลประทานของโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แตง ได้อีกกว่า 25 ล้านลูกบาศก์เมตร ช่วยเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกในช่วงฤดูแล้งของโครงการชลประทานแม่แตงได้อีกกว่า 14,550 ไร่

       โครงการเพิ่มปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ เป็นโครงการขนาดใหญ่ที่สำคัญตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ และ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่หวังสร้างความมั่นคงด้านน้ำโดยให้ทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการการทำงานร่วมกันภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

        ทั้งนี้ รองอธิบดีกรมชลประทาน ได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องให้เร่งรัดและติดตามการก่อสร้างในทุกสัญญาอย่างใกล้ชิด โดยคำนึงถึงความถูกต้องตามหลักวิศวกรรม และเป็นไปตามระเบียบราชการ นอกจากนี้ยังเน้นย้ำให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทำการประชาสัมพันธ์ถึงความก้าวหน้า ตลอดจนแนวทางการดำเนินงานให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบอย่างต่อเนื่อง

       ขณะเดียวกันระหว่างการก่อสร้างทั้ง 4 สัญญา มีปัญหาอุปสรรคที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งที่ผ่านมากรมชลประทาน คณะที่ปรึกษา ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกับผู้รับจ้างมาโดยตลอด เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและแล้วเสร็จตามแผนที่กำหนดไว้