“พลเอก ประวิตร” ล่องใต้ สั่งทุกหน่วยพร้อมรับมือฝนเร่งแก้ปัญหาท่วม-แล้งที่สงขลา ทั้งเร่งด่วนและระยาว ย้ำให้ สทนช. เป็นเจ้าภาพหลักบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ และบริเวณลุ่มน้ำเทพาอย่างเป็นระบบ
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่จังหวัดสงขลา เพื่อประชุมติดตามแนวทางการบริหารจัดการน้ำ และการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนจากปัญหาน้ำท่วมน้ำหลากและปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ณ อาคารอเนกประสงค์บริเวณปากแม่น้ำเทพา ต.ปากบาง อ.เทพา จ.สงขลา โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวต้อนรับ
พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. รายงานสรุปสภาพปัญหาอุทกภัยในพื้นที่พร้อมแนวทางแก้ไขปัญหาด้านน้ำทั้งระบบ นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า นำเสนอแผนการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง ผู้แทนภาคเอกชน นำเสนอแนวทางการพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมบริเวณปากแม่น้ำเทพาและพื้นที่ใกล้เคียง พร้อมด้วยผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนในพื้นที่ร่วมให้การต้อนรับ
พลเอก ประวิตร กล่าวภายหลังการลงพื้นที่เพื่อติดตามความก้าวหน้าแผนรับมือฤดูฝนภาคใต้และการแก้ไขปัญหาด้านน้ำจ.สงขลา ว่า ในช่วงฤดูฝนในพื้นที่ภาคใต้ได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก เร่งดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด รวมถึงวางแผนการระบายน้ำพื้นที่ชุมชนให้รอบคอบรัดกุม ควบคู่กับการวางแผนเก็บน้ำสำรองไว้รองรับในช่วงฤดูแล้ง โดยกำชับ สทนช. เร่งบูรณาการหน่วยงานเกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนแผนงานเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำให้ทันต่อเหตุการณ์ทั้งระบบผ่านกลไกของคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัด และให้กรมชลประทานเร่งรัดดำเนินโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ ระยะที่ 2 ให้พร้อมรองรับฤดูฝนนี้ด้วย
ส่วนแผนระยะยาว ให้ สทนช. เป็นเจ้าภาพหลักบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาอุทกภัยและภัยแล้งบริเวณคาบสมุทรสทิงพระ และบริเวณลุ่มน้ำเทพาอย่างเป็นระบบ สำหรับโครงการที่ได้รับงบประมาณดำเนินการแล้วขอให้เร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว รวมถึงประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานให้ประชาชนได้รับรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดการยอมรับและมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำได้ตรงกับความต้องการของพื้นที่
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาในพื้นที่ จ.สงขลา มักประสบปัญหาน้ำท่วมในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มริมน้ำ และมักประสบปัญหาภัยแล้ง จากปริมาณน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ยังไม่เพียงพอกับความต้องการ และเกิดการรุกตัวของน้ำเค็มเข้ามาในทะเลสาบสงขลา ส่วนปัญหาด้านคุณภาพน้ำในบริเวณคลองอู่ตะเภา และทะเลสาบสงขลาตอนล่าง มีสภาพเสื่อมโทรม เนื่องจากได้รับการปนเปื้อนจากน้ำทิ้งของชุมชนและโรงงานอุตสาหกรรม ดังนั้น การเร่งแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้งในพื้นที่ จ.สงขลา จะช่วยส่งเสริมให้เป้าหมายการพัฒนาในด้านต่างๆ ของจังหวัดเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาด้านน้ำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล
ด้าน ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการ กอนช. กล่าวว่า สทนช.ได้พิจารณาแผนงานโครงการด้านน้ำของหน่วยงานต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-ภัยแล้ง จ.สงขลา โดยเร่งผลักดันให้มีการพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำในลำน้ำสาขาต่างๆ และเพิ่มประสิทธิภาพการระบายในลำน้ำสำคัญ เช่น คลองนาทวี คลองเทพา คลองรัตภูมิ คลองอู่ตะเภา เป็นต้น รวมถึงปรับปรุงฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติ
ทั้งนี้ในช่วงปี’61 – 64 หน่วยงานต่างๆ ได้มีการพัฒนาแหล่งน้ำทั้งสิ้น 962 โครงการ ส่งผลให้มีปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้นเกือบ 10 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 11,763 ไร่ พื้นที่ได้รับการป้องกัน 36,605 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 95,051 ครัวเรือน เช่น สถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าพร้อมระบบส่งน้ำ เขื่อนป้องกันตลิ่งริมคลองอู่ตะเภา และขุดลอกร่องน้ำร่องกลางทะเลสาบสงขลาตอนล่าง เป็นต้น
ขณะที่แผนงานโครงการงบบูรณาการ ปี’65 มีทั้งสิ้น 51 โครงการ พื้นที่รับประโยชน์ 10,445 ไร่ พื้นที่ได้รับการป้องกัน 13,056 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 6,717 ครัวเรือน เช่น แก้มลิงคลองลำทับ แก้มลิงคลองทราย ประตูระบายน้ำคลองลำพีระ และแผนในปี’66 รวม 17 โครงการ ปริมาณน้ำกักเก็บเพิ่มขึ้น 33 ล้าน ลบ.ม. พื้นที่รับประโยชน์ 38,807 ไร่ ประชาชนได้รับประโยชน์ 43,944 ครัวเรือน เช่น แก้มลิงฉลุง ระบบป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ชุมชนเมืองสงขลา พัฒนาน้ำบาดาลขนาดใหญ่ อ.หาดใหญ่ และอ่างเก็บน้ำคลองแก้ว เป็นต้น