ก.เกษตรฯ ระดมทุกหน่วยงาน ขับเคลื่อน “Agri challenge Next Normal 2022” รับมือความปกติใหม่ปี 65 

  •  
  •  
  •  
  •  

กระทรวงเกษตรฯ ระดมทุกหน่วยงานในสังกัด ขับเคลื่อน “Agri challenge Next Normal 2022” หวังวางรากฐานการทำงานขรองรับความปกติใหม่ในปี 2565  เน้น 3 ด้าน “ภารกิจเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายให้บรรลุเป้าหมาย – ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร- วางรากฐานการทำงานของกระทรวง” 

          ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมมอบแนวทางการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภายใต้แนวคิด “Agri challenge Next Normal 2022” แก่ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผ่านระบบออนไลน์ ว่า นโยบาย “Agri challenge Next Normal 2022” จะมุ่งขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายรัฐบาลนโยบายกระทรวงให้บรรลุเป้าหมาย การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร วางรากฐานการทำงานของกระทรวงรองรับความปกติใหม่ (New Normal) และสร้างเอกภาพในการขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวง

        อย่างไรก็ตาม ยังคงดำเนินงานเชิงบูรณาการภายใต้แนวคิด “เชื่อมโยงการบริหาร แปลงสารให้ชัด จัดสรรให้ถูก” หมายถึง การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์กับพันธกิจของกระทรวง การสร้างการสื่อสารนโยบายของกระทรวงไปยังผู้ปฏิบัติ และการบริหารจัดการให้สอดคล้องกับภารกิจ ซึ่งจะดำเนินการขับเคลื่อนงาน 3 ด้าน ประกอบด้วย 1) ภารกิจเร่งด่วนเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และนโยบายให้บรรลุเป้าหมาย 2) ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้เกษตรกร
และ 3) วางรากฐานการทำงานของกระทรวง 

    โดยตั้งเป้าหมายครอบคลุม 4 ด้านในปี 2565 คือ 1) ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศสาขาเกษตร เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 3.8 2) ผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตรเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 1.23) เกษตรกรที่มีรายได้ต่ำกว่าเส้นความยากจน ลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 10 และ 4) พื้นที่ชลประทานเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่าปีละ 350,000 ไร่ รวมทั้งเตรียมการผลักดันเป้าหมายตามแผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566-2570) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างมีประสิทธิภาพ

    สำหรับ “Agri challenge Next Normal 2022” เหลียวหลัง แลหน้า รองรับ Next Normal มีความท้าทายต่อภาคเกษตรที่จะขับเคลื่อนในระยะต่อจากนี้ โดยเน้น 1) การผลิต เชื่อมโยงทรัพยากรการผลิตยั่งยืน เน้นผลิตสินค้ามูลค่าสูง ควบคู่การยกระดับมาตรฐาน GAP เกษตรอินทรีย์ สนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพร/สุขภาพ พืชพลังงานทดแทน และผลักดันระบบฟาร์มอัจฉริยะ 2) การแปรรูป เน้นสร้างผลิตภัณฑ์มูลค่าสูงด้วย BCG Model การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าเกษตรและอาหาร (GMP HACCP ฯลฯ) และ 3) การตลาด เน้นการนำเสนอคุณค่าต่อผู้บริโภค (การสร้าง Story) การสร้างสรรค์packaging/branding Online Marketing และการสร้างประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์การเกษตร

     นอกจากนี้ ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ต้องปรับตัวสู่ “Next Normal” โดยพัฒนากำลังคนภาคเกษตร พัฒนากระบวนการทำงาน ผลักดันวิจัยและนวัตกรรมเกษตร และยกระดับความร่วมมือเครือข่ายการพัฒนาภาคเกษตรจากทุกภาคส่วน

       ขณะเดียวกัน ได้เน้นย้ำการยกระดับภาคการเกษตรของจังหวัด โดยเร่งยกระดับการทำงาน ผลักดัน “ตลาดนำการผลิต” 5 แนวทาง คือ 1) รู้ให้ลึก ข้อมูลและทิศทางการพัฒนาของจังหวัด ข้อมูลพื้นฐาน สินค้าโดดเด่นอัตลักษณ์พื้นถิ่นในพื้นที่ที่รับผิดชอบอย่างถ่องแท้ 2) ประยุกต์ใช้เป็น ใช้เครื่องมือที่มีให้เกิดประสิทธิภาพในการบริหารจัดการทั้ง Agri-Map ข้อมูลทะเบียนเกษตรกร ข้อมูลสินค้าเกษตร สถิติ แนวโน้ม แผนน้ำ แพลตฟอร์มตลาด มาวิเคราะห์วางแผนการพัฒนาภาคการเกษตรของจังหวัด 3) จัดการให้เป็นระบบ ต้องวางแผนและบริหารงบประมาณภาคการเกษตรภาพรวมของจังหวัดให้ได้ ให้ชัดเจน ส่วนใดต้องขอ Function ส่วนใดควรของบจังหวัด ส่วนใดต้องให้สถาบันการเงินช่วย เพื่อให้การขับเคลื่อนเดินหน้าได้ตามเป้าหมาย

       4) แสวงหาความร่วมมือ ให้เพื่อนช่วย โดยเฉพาะหน่วยงานส่วนกลางและต่างประเทศของ สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานสังกัดกระทรวง ในการดำเนินการด้านข้อมูล การอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งภาคส่วนต่างๆ ที่จะมีส่วนสำคัญในการพัฒนาภาคเกษตรของจังหวัด สานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นไว้ การทำงานในทุกสภาพการณ์จะได้มีความราบรื่น และ 5) ภูมิใจในความสำเร็จ ของการพัฒนาภาคเกษตรของจังหวัดที่ได้ทำไปแล้ว ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณะได้รู้ และต่อยอดสู่การพัฒนาด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย.