สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร จับมือ สภาทนายความฯ ลงนามบันทึกความร่วมมือข้อตกลงว่าด้วย การเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ กฟก. หวังช่วยเกษตรกรที่ขาดความรู้ด้านกฎหมาย ถูกเอารัดเอาเปรียบด้านสัญญาที่ไม่เป็นธรรมจากเจ้าหนี้ รวมถึงการติดตามทวงหนี้ที่ไม่เป็นธรรม
นายสไกร พิมพ์บึง เลขาธิการสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ทาง กฟก.ได้มีการลงนามบันทึกความร่วมมือในการเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือทางด้านกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของ กฟก. กับสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ณ ห้องประชุมชั้น 3 สภาทนายความฯ
ทั้งนี้ กฟก.มีสมาชิกที่เป็นเกษตรกรประสบปัญหาหนี้สินอยู่เป็นจำนวนมาก ที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย ทำให้ถูกเอารัดเอาเปรียบ ตั้งแต่การทวงถามที่ไม่ให้เกียรติจากเจ้าหนี้ รวมถึงการนำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม หรือถูกฟ้องร้องเป็นคดีในชั้นศาลและเสียเปรียบทางคดี แพ้คดี เนื่องจากไม่อาจจัดหาทนายความเพื่อช่วยเหลือต่อสู้คดีในชั้นศาลได้
นายสไกร กล่าวอีกว่า กฟก.และ สภาทนายความฯมองเห็นปัญหาดังกล่าวจึงมีนโยบายที่จะทำงานร่วมกัน เพื่อร่วมมือให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เกษตรกรที่เป็นสมาชิกกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรทั่วประเทศ ทั้งในเรื่องของการให้ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมาย และระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงาน การให้ความช่วยเหลือด้านคดีความและการยุติข้อขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้กับเกษตรกรสมาชิก
โดยสภาทนายความฯ ให้จัดทนายความอาสาที่มีอยู่ทั่วประเทศทุกจังหวัด ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย ให้คำปรึกษา แนะนำ ตอบปัญหาข้อกฎหมายประจำสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรประจำจังหวัด รวมทั้งให้ความช่วยเหลือด้านอรรถคดีแก่เกษตรกร รวมถึงการสนับสนุนวิทยากรในการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย โดยการฝึกอบรม การสัมมนา การให้คำปรึกษาปัญหาข้อกฎหมายที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันของเกษตรกรและสำนักงาน และที่สำคัญคือ การช่วยเหลือด้านการทำนิติกรรมสัญญาบนพื้นฐานความเสมอภาคและเป็นธรรมต่อเกษตรกรทั่วประเทศ
ด้าน ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ทางสภาทนายความได้ตระหนักถึงความเดือดร้อนเรื่องหนี้สินของเกษตรกรนั้นหนักหนาสาหัส โดยเฉพาะถูกเอารัดเอาเปรียบด้านสัญญาแล้วเกษตรกรก็ยิ่งหาทางออกไม่ได้ การเข้าไปดูแลให้ความรู้ ให้ได้รับความเป็นธรรมด้านคดีความต่าง ๆ นั้น นับเป็นหนทางให้เกษตรกรมีความหวัง มีโอกาสต่อสู้คดีในชั้นศาลได้
อย่างไรก็ตาม หากเกษตรกรชนะคดีหรือได้รับความเป็นธรรมก็ทำให้หลักทรัพย์ที่ใช้เป็นหลักประกันในคดีความไม่ตกไปเป็นของนายทุนหรือเจ้าหนี้เกษตรกรยังมีที่ดินทำกินสร้างรายได้และสามารถปลดเปลื้องภาระอันหนักอึ้งได้
สำหรับความร่วมมือในวันนี้ เกิดขึ้นได้จากความร่วมมือของทั้ง 2 หน่วยงานที่มองเห็นปัญหาจึงเป็นโอกาสที่ดีที่ได้มีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาด้านกฎหมายตามภารกิจของสภาทนายความ