สำราญ สาราบรรณ์
ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร เคาะร่างหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พร้อมเตรียมแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้าน การเกษตร ในช่วงฤดูฝน ปี 2564 กรมปศุสัตว์สบช่อง ชงปรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงโค-กระบือประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน จากเดิมรายละไม่เกิน 2 ตัว เป็น รายละไม่เกิน 5 ตัว
นายสำราญ สาราบรรณ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ครั้งที่ 2/2564 วันจันทร์ที่ 5 มิถุนายน 2564 เวลา 10.30 – 12.00 น.ณ ห้องประชุมกระทรวงเกษตรและสหกรณ และในรูปแบบระบบ VDO Conference ด้วยโปรแกรม Zoom Meetings โดยมีผู้บริหารกระทรวงเกษตร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม ว่า เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโรคลัมปี – สกิน ในโค และกระบือ ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ได้รับความเสียหายจากสัตว์ตายเป็นจำนวนมาก ประกอบกับปัจจุบันราคาต้นทุนการเลี้ยงสัตว์เพิ่มสูงขึ้น มีการเลี้ยงเป็นอาชีพมากขึ้น มีการยกระดับมาตรฐานการเลี้ยงให้ดีกว่าเดิม ดังนั้น กรมปศุสัตว์ จึงขอเสนอปรับเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน ดังนี้
1. ปรับเกณฑ์จำนวนตัวที่ให้ความช่วยเหลือ 2 รายการ คือโค กระบือ จากรายละไม่เกิน 2 ตัว เป็น รายละไม่เกิน 5 ตัว 2. ปรับราคาอัตราการให้ความช่วยเหลือให้เพิ่มสูงขึ้น โดยที่ประชุมได้เห็นชอบร่าง หลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตร ผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. …. และเตรียมเสนอกรมบัญชีกลางพิจารณาต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้เห็นชอบแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยด้านการเกษตร ในช่วงฤดูฝน ปี 2564 ซึ่งกำหนดมาตรการลดความเสี่ยงจากอุทกภัยและฝนทิ้งช่วง ประกอบด้วย คือ 1. การเตรียมความพร้อม การป้องกันและลดผลกระทบ 2. การเผชิญเหตุ และ 3. การฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม
สำหรับขั้นตอนการเตรียมความพร้อมนั้น ให้หน่วยงานต่างๆ เตรียมความพร้อมในขอบข่ายภารกิจของหน่วยงานตนเอง อาทิ ให้กรมชลประทาน ว่างแผนจัดสรรน้ำ กรมการข้าว กำหนดพื้นที่เป้าหมายส่งเสริมการปลูกข่าว กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพิ่มและปรับปรุงแหล่งกักเก็บน้ำเดิมที่มีอยู๋ให้พร้อมรองรับปริมาณฝน กรมฝนหลวง จัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง 13 ศูนย์ ฐานเติมสาร 4 ฐาน ช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคม 2564 เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำฝนให้พื้นที่เกษตรกรรม ในช่วงเริ่มฤดูเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจประจำปี เป็นต้น
การเผชิญเหตุ ได้แก่ การบริหารจัดการน้ำ การเร่งระบายน้ำ สนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ และเครื่องจักรกลอื่นๆ สนับสนุนเสบียงอาหารสัตว์ ดูแลสุขภาพสัตว์สนับสนุนเรือตรวจการและเจ้าหน้าที่ ช่วยเหลือและสื่อสารสถานการณ์กรณีฝนทิ้งช่วงหรือฝนน้อยกว่าค่าปกติ เช่น การปฏิบัติการฝนหลวง สนับสนุนเครื่องสูบน้ำหรือรถบรรทุกน้ำ
การฟื้นฟูให้ดีกว่าเดิม ได้แก่ การสำรวจและประเมินความเสียหาย เพื่อช่วยเหลือตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง การจัดหน่วยเคลื่อนที่ เพื่อเยี่ยมเยียนและให้การช่วยเหลือระยะเร่งด่วน การสนับสนุนพันธุ์สัตว์น้ำ และเมล็ดพันธุ์ดีการซ่อมแซมโครงสร้างด้านชลประทาน เครื่องมือและเครื่องจักรกลทางการเกษตร การบำบัดน้ำเสียและปรับปรุงบำรุงดิน การสนับสนุนแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ