สั่งกรมชล-ประมงรับมือ “ยาอาส” เต็มพิกัด พร้อมช่วยเหลือประชาชนทันที

  •  
  •  
  •  
  •  

                                               อลงกรณ์ พลบุตร

“อลงกรณ์” เผย รมว.เกษตรฯ สั่งตรงกรมชลประทาน-กรมประมงรับมือพายุไซโคลน “ยาอาส” เต็มพิกัดพร้อมช่วยเหลือประชาชนทันที คาดมาถึงประเทศไทยในวันที่ 27 พ.ค. 64 นี้ทำคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง มีคลื่นสูง 2-4 เมตร ขณะที่อ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร

      นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยวันนี้ (26 พ.ค. 64) ว่า ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ห่วงใยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากพายุไซโคลน ”ยาอาส” จึงสั่งการให้กรมชลประทานและกรมประมงเตรียมความพร้อมเต็มพิกัดเพื่อรับมือพายุไซโคลน ”ยาอาส” ซึ่งเป็นมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่มีกำลังแรงขึ้นพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง จึงต้องระดมเครื่องจักรเครื่องมือและเจ้าหน้าที่ให้สามารถช่วยเหลือประชาชนและชาวประมงได้ทันที

    ทั้งนี้กรมอุตุนิยมวิทยาแจ้งเตือนมาล่าสุดว่า พายุไซโคลน “ยาอาส” จะเคลื่อนขึ้นฝั่งรัฐโอริสสา-รัฐกัลกัตตาของอินเดียในวันนี้ส่งผลให้ 4 จังหวัดภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งจนถึงวันที่ 27 พ.ค. 64 โดยคลื่นลมในทะเลอันดามันมีกำลังแรง มีคลื่นสูง 2-4 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองมีคลื่นสูงมากกว่า 4 เมตร ส่วนอ่าวไทยตอนบนทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร จึงกำชับให้หน่วยงานกรมชลประทานและกรมประมงในพื้นที่ประชาสัมพันธ์ถึงสถานการณ์น้ำรวมทั้งการแจ้งเตือนต่างๆ ไปยังประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด”

     นอกจากการรับมือพายุไซโคลน ”ยาอาส” แล้ว ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ติดตามสถานการณ์ฝนในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า มีปริมาณฝนลดลงในพื้นที่ตอนบนของประเทศจึงสั่งการให้กรมชลประทานเร่งดูแลบริหารจัดการน้ำและประสานการทำงานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพื่อปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ทางตอนบนของประเทศเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากในช่วงนี้ทางตอนบนยังคงมีฝนตกน้อย ประกอบกับปริมาณน้ำต้นทุนในเขื่อนต่างๆ ไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนให้เกษตรกรที่ทำการเพาะปลูกข้าวต่อเนื่องหรือข้าวนาปีได้อย่างเต็มศักยภาพ

      ด้านนายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้เตรียมความพร้อมรับมือพายุไซโคลน ”ยาอาส” ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยซ้ำซาก กำหนดเจ้าหน้าที่ประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการแจ้งเตือนประชาชน การจัดสรรทรัพยากรเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ เครื่องผลักดันน้ำ เข้าไปประจำพื้นที่เสี่ยง เพื่อให้สามารถช่วยเหลือประชาชนได้ทันที รวมทั้งติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (RULE CURVE) โดยพิจารณาปรับลดการระบายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ ใช้อาคารชลประทานในการบริหารจัดการน้ำตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำด้วย