สทนช.ระดมแนวคิดแก้ปัญหาน้ำเค็ม-น้ำท่วม-น้ำแล้ง 4 ลุ่มน้ำติดอ่าวไทย

  •  
  •  
  •  
  •  

สทนช. เร่งระดมแนวคิดจากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญทุกด้าน วิเคราะห์หาจุดสมดุลระหว่างลุ่มน้ำ หาทางออกการแก้ปัญหาน้ำเค็ม-น้ำท่วม-น้ำแล้งใน 4 ลุ่มน้ำติดอ่าวไทยในระยะเร่งด่วนอย่างเป็นรูปธรรม พร้อมเดินหน้าศึกษาการแก้ไขในระยะยาวอย่างยั่งยืน คาดพร้อมดำเนินการในปี 2565

     ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วมและน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทยว่า จากโรดแมปการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ จากหน่วยงาน ผู้ทรงคุณวุฒิและภาคประชาชนที่ได้รับการแต่งตั้งจาก พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่ต้องดำเนินการกำหนดกรอบแนวทางและขอบเขตในการศึกษาการแก้ไขปัญหาการรุกตัวน้ำเค็ม น้ำท่วม น้ำแล้งในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ลุ่มน้ำท่าจีน ลุ่มน้ำบางปะกงตอนล่าง และลุ่มน้ำแม่กลองตอนล่าง) ให้แล้วเสร็จในระยะเวลา 90 วัน หรือภายในวันที่ 30 มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นต้องนำกรอบแนวทางการศึกษาที่ได้สรุปรายงานต่อ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐนตรี ประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ให้ความเห็นชอบต่อไปนั้น 

    สทนช. ได้เร่งระดมแนวคิดจากผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ผู้แทนกลุ่มผู้ใช้น้ำในคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดในลุ่มน้ำที่ติดอ่าวไทย รวมทั้งได้เชิญอีก 4 หน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม ได้แก่ กรมควบคุมมลพิษ กรมโรงงานอุตสาหกรรม องค์การจัดการน้ำเสีย และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย มาให้ข้อมูลเพิ่มเติมในประเด็นสถานการณ์น้ำเสียและคุณภาพน้ำ และข้อห่วงกังวลด้านผลกระทบสิ่งแวดล้อม คุณภาพน้ำ และระบบนิเวศจากแนวคิดก่อสร้างประตูระบายน้ำปิดปากแม่น้ำ 4 สาย เพื่อให้การจัดทำแนวทางการแก้ไขปัญหามีความครอบคลุมในทุกมิติมากยิ่งขึ้น

    ทั้งนี้ จากการรวบรวม วิเคราะห์ และกลั่นกรองข้อมูลสถานการณ์ แนวทางการแก้ไขปัญหาจากทุกหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญทุกท่านที่ได้เสนอ รวมถึงการติดตามผลการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2563/64 ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พ.ย. 63 ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2563/64 นำมาทบทวนปรับปรุงแนวทางมาตรการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วม และน้ำแล้งในลุ่มน้ำติดอ่าวไทยระยะเร่งด่วนในมิติของภาพรวม 3 ด้าน ได้แก่

    1)ด้านอุปสงค์ (Demand) ปัจจุบันความต้องการใช้น้ำ (Demand) มีปริมาณที่สูงกว่าปริมาณน้ำต้นทุน (Supply) ในลำน้ำ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากจากอดีต เนื่องจากการใช้ประโยชน์ที่ดินที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งภาคการเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค จึงจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายในการสร้างสมดุลระหว่างความต้องการใช้น้ำและปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำ โดยการควบคุมการจัดสรรน้ำให้เป็นไปตามแผนโดยเฉพาะภาคการเกษตร รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำของทุกภาคส่วนและลดต้นทุนการใช้น้ำในอนาคต

     2)ด้านอุปทาน (Supply) ปริมาณน้ำต้นทุนมีไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มสูงขึ้น สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภาวะเอลนีโญ (El Nino) ส่งผลให้ฝนตกปริมาณน้อยลงและแปรปรวนมาก ทำให้ปริมาณน้ำท่าและน้ำไหลลงเขื่อนลงลด เกิดการสูญเสียน้ำในระบบส่งทำให้ปริมาณน้ำที่ส่งได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการพัฒนาน้ำต้นทุนไม่เพียงพอต่อความต้องการที่สูงเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายในการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนของแต่ละลุ่มน้ำ โดยการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพระบบส่งน้ำทั้งภาคเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภคเชื่อมโยงแหล่งน้ำ จัดหาแหล่งน้ำสำรองทั้งผิวดินและใต้ดิน และพัฒนาแหล่งน้ำพื้นที่ต้นน้ำให้สามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้เต็มศักยภาพ

     และ 3)ด้านบริหารจัดการ (Management) กลไกในการบริหารจัดการน้ำให้เกิดความสมดุลยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ เนื่องจากปัจจุบันยังขาดกฎหมายลำดับรอง ตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 และมาตรการที่เป็นรูปธรรมในการควบคุมให้การจัดสรรน้ำเป็นไปตามแผน นอกจากนี้ ระบบการตรวจวัด ติดตาม พยากรณ์สถานการณ์ความเค็มยังไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำ ระบบฐานข้อมูลยังไม่ได้บูรณาการร่วมกันอย่างเป็นระบบ รวมถึงองค์ความรู้และข้อมูลเชิงวิชาการยังไม่เพียงพอที่จะวางแผนและกำหนดมาตรการในระยะยาว จึงจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายในการกำหนดแนวทาง มาตรการ องค์กร กลไก ฐานข้อมูล ระบบคาดการณ์ และผลการศึกษาวิจัยสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำที่เกิดความสมดุลระหว่างความต้องการและปริมาณน้ำต้นทุน

      “สทนช.จะนำแนวทางและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาจากหน่วยงานและผู้เชี่ยวชาญทุกท่าน ไปวิเคราะห์สังเคราะห์เพื่อประกอบการพิจารณาทางเลือกในการแก้ไขปัญหาในระยะเร่งด่วนที่มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยข้อสรุปกรอบแนวทางการแก้ไขปัญหาและรายละเอียดดังกล่าว จะนำเสนอคณะอนุกรรมการทรัพยากรน้ำจังหวัดที่อยู่บริเวณชายขอบของทั้ง 4 แม่น้ำสายหลัก เพื่อให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะที่เชื่อมโยงกับบริบทของทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งสอดคล้องกับกฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องที่ลงรายละเอียดเชิงลึกในระดับพื้นที่ เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์หาจุดสมดุลระหว่างลุ่มน้ำได้อย่างครอบคลุมในมิติของภาพรวมและรายลุ่มน้ำ ทั้งนี้ คาดว่าปี 2565 จะสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาในระยะยาวได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ สทนช. กล่าว