กรมชลฯเดินหน้าจัดการน้ำ สั่งทุกโครงการเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ ขุดลอกคลองให้เสร็จก่อน มิ.ย.รับมือฤดูฝนนี้

  •  
  •  
  •  
  •  

กรมชลประทาน เดินหน้าบริหารจัดการน้ำอย่างต่อเนื่อง หลังหลายพื้นที่เริ่มมีฝนตก พร้อมสั่งทุกโครงการเร่งกำจัดวัชพืช สิ่งกีดขวางทางน้ำ และเร่งขุดลอกคลองและแก้มลิง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้  รองรับฤดูฝนเต็มพิกัด เพื่อให้การเก็บกักน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

      นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในปัจจุบัน (3 พ.ค. 64)ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 36,459 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 12,530 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันประมาณ 39,608 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,949 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ รวมกัน มีน้ำใช้การได้ประมาณ 2,253 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝน ได้รวมกันประมาณ 15,922 ล้าน ลบ.ม.

                                                                              ประพิศ จันทร์มา

        ทั้งนี้ ได้สั่งการให้โครงการชลประทานทุกแห่ง เร่งดำเนินการกำจัดวัชพืช และสิ่งกีดขวางทางน้ำ รวมทั้งเร่งขุดลอกคลองและแก้มลิง ให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในช่วงฤดูฝน อาทิ บริเวณเหนือเขื่อนเจ้าพระยา อ.สรรพยา จ.ชัยนาท หลังจากที่มีวัชพืชไหลมาสะสมกว่า 40,000 ตัน ขณะนี้ได้กำจัดวัชพืชและสิ่งกีดขวางทางน้ำไปแล้ว ประมาณ 31,500 ตัน หรือคิดเป็น 78.75 % หากไม่มีวัชพืชไหลเข้ามาเพิ่มเติม คาดว่าจะแล้วเสร็จ ภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564

       ส่วนทีบริเวณคลองระบายน้ำ 2R สองพี่น้อง ต.ดอนมะเกลือ อ.อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาสองพี่น้อง สำนักงานชลประทานที่ 13 ได้กำจัดวัชพืชไปแล้วกว่า 13,800 ตัน แล้วเสร็จไปเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา และบริเวณคลองบางบัวทอง ที่พบวัชพืชไหลมาสะสมเป็นระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร ขณะนี้สำนักงานชลประทานที่ 11 ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่น และสำนักงานโยธาธิการและผังเมืองนนทบุรี ดำเนินการกำจัดวัชพืชคงเหลือระยะประมาณ 500 เมตร คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 นี้เช่นกัน

       อย่างไรก็ตาม ทางกรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในทุกช่วงเวลาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด หากหน่วยงานหรือประชาชนท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานทุกแห่ง หรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา