สทนช.จัดทำผังน้ำเพิ่มอีก 5 ลุ่มน้ำ ในปีนี้ ตั้งเป้าอีก 8 ในปี 2567 เร่งแก้ปัญหาท่วม-แล้ง

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                        ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

สทนช. เร่งเดินหน้าผังน้ำฝ่าวิกฤติโควิด-19 เคาะเพิ่มอีก 5 ลุ่มน้ำ คาดแล้วเสร็จทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายในปี’67 เล็งปรับแผนการสำรวจเส้นทางน้ำ ข้อมูลลุ่มน้ำ พร้อมย้ำผังน้ำต้องจัดการมีส่วนร่วมในทุกภาคส่วนตลอดสองฝั่งลำน้ำให้ทราบข้อเสนอแนะการใช้ประโยชน์ที่ดินตามเป้าหมาย ภายใต้กรอบแนวทางการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัด

          ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการจัดทำผังน้ำล่าสุดว่า จากแผนดำเนินการจัดทำผังน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำปี พ.ศ.2561 ขณะนี้ สทนช.ได้ดำเนินการศึกษาการจัดทำผังน้ำแล้วจำนวน 8 ลุ่มน้ำ  ได้แก่  ลุ่มน้ำชี มูล บางปะกง  สะแกกรัง ป่าสัก  เจ้าพระยา ท่าจีน และลุ่มน้ำแม่กลอง โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่ 29 พฤษภาคม 2563 กำหนดแล้วเสร็จ 20 กันยายนนี้
โดย สทนช.จะนำเสนอสรุปผลศึกษาจัดทำผังน้ำ 8 ลุ่มน้ำแรก เข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กอนช.) พิจารณา ก่อนประกาศกำหนดผังน้ำในราชกิจจานุเบกษา โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการที่เกี่ยวข้อง อาทิ การจัดทำแผนปรับปรุง พื้นฟูทางน้ำ แหล่งน้ำทุกประเภท แม่น้ำแต่ละสายมีผู้รับผิดชอบชัดเจน โดยเฉพาะแหล่งน้ำขนาดเล็ก แหล่งน้ำธรรมชาติ ที่เชื่อมโยงกับทางน้ำสายหลัก ที่จะนำไปสู่การบริหารจัดการน้ำท่วมและน้ำแล้งเกิดประสิทธิภาพ

       สำหรับในปีงบประมาณ 2564 สทนช.ได้ดำเนินการเพิ่มเติมอีก 6 ลุ่มน้ำ ได้แก่ ลุ่มน้ำปิง วัง ยม น่าน โขงตะวันออกเฉียงเหนือ  และลุ่มน้ำภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนบน ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่เมษายนนี้ และสิ้นสุดในเดือนสิงหาคมปี 2565  สำหรับอีก 8 ลุ่มน้ำที่เหลือ ได้แก่  ลุ่มน้ำสาละวิน โขงเหนือ  เพชรบุรี-ประจวบคีรีขันธ์ ทะเลสาบสงขลา ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตอนล่าง ชายฝั่งตะวันออก ภาคใต้ฝั่งตะวันตก และลุ่มน้ำโตนเลสาบ มีแผนจะดำเนินการในปีงบประมาณ 2566 ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จทั้ง 22 ลุ่มน้ำภายในปี 2567

          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการดำเนินการโครงการศึกษาผังน้ำที่อยู่ระหว่างดำเนินการและมีแผนดำเนินการในอนาคต สทนช.ได้เน้นย้ำถึงเป้าหมายการมาของข้อมูลเพื่อนำไปสู่การจัดทำผังน้ำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด แม้จะมีข้อจำกัดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในปัจจุบัน ที่ต้องมีการปรับแผนการดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่ยังคงต้องให้เกิดกระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนเกี่ยวข้องให้มากที่สุด

       ขณะเดียวกัน การรวบรวมข้อมูลพื้นฐานแต่ละลุ่มน้ำต้องมีการเชื่อมโยงข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะผังเมือง แผนการพัฒนาเมืองทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างน้อยในระยะ 5 ปี ระบบโครงข่ายน้ำที่มีอยู่เดิมและที่จะเกิดขึ้น ข้อมูลทางสถิติของระดับน้ำท่วมน้ำแล้งที่เคยเกิดขึ้นในอดีต รวมถึงการใช้ภาพถ่ายทางอากาศและดาวเทียม เพื่อนำมาวิเคราะห์การกำหนดขอบเขตเส้นทางน้ำที่เหมาะสม  โดยเฉพาะริมสองฝั่งลำน้ำที่การศึกษาจะนำไปสู่แผนการปรับปรุง แผนการบริหารจัดการน้ำ และการกำหนดหน่วยงานหลักรับผิดชอบแต่ละรับน้ำที่ชัดเจน โดยผ่านความเห็นชอบจาก กนช. เพื่อให้มีผลในทางปฏิบัติครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำโดยเร็ว

          “การวางผังทางน้ำและทิศทางการไหลของทางน้ำทั้งระบบ จะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดนโยบาย แผนแม่บท และแผนยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศเกิดเอกภาพและเป็นระบบ ที่จะมีความเชื่อมโยงกับผังเมืองตามฏหมายว่าด้วยผังเมือง มีกรอบที่ชัดเจนและข้อตกลงที่สังคมให้การยอมรับการใช้ประโยขน์ที่ดินที่อยู่ในระบบทางน้ำตามผังน้ำ ที่ต้องไม่ก่อให้เกิดการเบี่ยงเบนทางน้ำ หรือกระแสน้ำ หรือสิ่งกีดขวางการไหลชองน้ำ ซึ่งที่ผ่านมาถือเป็นอีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญต่อการบริหารจัดการน้ำ ทั้งในฤดูน้ำหลากที่ต้องมีความชัดเจนถึงเส้นทางการไหลของมวลน้ำ ระดับความสูงที่ลำน้ำรองรับได้ รวมถึงแหล่งน้ำที่จะรองรับน้ำไปเก็บไว้ใช้ในฤดูแล้งได้อย่างเป็นระบบ ตามเจตนารมย์ของกฏหมายน้ำได้อย่างแท้จริง” ดร.สมเกียรติ กล่าว.