งัด 10 มาตรการเตรียมพร้อมรับมือน้ำท่วม-ภัยแล้งปี 64 

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                        ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

กอนช. ประสานกำลังทุกหน่วยงานด้านน้ำเตรียมรับมือสถานการณ์ ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม เน้นน้ำอุปโภค-บริโภคต้องมาลำดับแรก พร้อมกำหนด 10 มาตรการ รองรับฤดูฝนปี 64 มั่นใจสามารถบริหารจัดการน้ำตลอดฤดูให้ได้ประโยชน์สูงสุดเพื่อพี่น้องประชาชน

     ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ชี้แจงกรณีข่าวการแจ้งเตือนประเทศไทยจะเผชิญวิกฤตภัยแล้งหนัก ฝนทิ้งช่วง และน้ำเค็มรุกล้ำ ในปี 2564 ซึ่งได้เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์และทำให้เกิดความตระหนกในหมู่ประชาชนอยู่ในขณะนี้ ว่า เพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ทั้งภัยแล้งและอุทกภัย ให้สามารถแก้ไขปัญหาและลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนได้ครอบคลุมในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ตลอดฤดูฝนปี 2564 นี้ กอนช. ได้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมในทุกด้านมาอย่างต่อเนื่อง

     ทั้งนี้ได้ร่วมบูรณาการกับกรมอุตุนิยมวิทยา และสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ในการคาดการณ์ปริมาณฝนในช่วงฤดูฝนปี 2564 พบว่า ช่วงปีนี้ฝนจะมาเร็วและทิ้งช่วงโดยฝนจะเริ่มตกในเดือนเมษายนจนถึงเดือนมิถุนายน สำหรับเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ปริมาณฝนจะตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยเป็นลักษณะของฝนทิ้งช่วง ดังนั้นเพื่อให้การวางแผนจัดสรรน้ำในช่วงฤดูฝนปีนี้เพียงพอในทุกกิจกรรม กอนช. จึงได้มีการประเมินปริมาณน้ำต้นทุนฤดูฝนปี 2564 ของอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ (ณ วันที่ 1 พฤษภาคม 2564) พบว่า มีปริมาณน้ำใช้การ รวม 8,371 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) โดยได้กำหนดแนวทางในการจัดสรรให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนตามลำดับความสำคัญของกิจกรรมการใช้น้ำ ได้แก่ 1) การอุปโภค บริโภค 2) การรักษาระบบนิเวศ 3) สำรองน้ำสำหรับใช้ในฤดูแล้งปี 2564/65 4) การเกษตรกรรม และ 5) การอุตสาหกรรม

     สำหรับปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน กอนช. ยังได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการรุกตัวของน้ำเค็ม น้ำท่วม และน้ำแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่าง เพื่อวิเคราะห์และคาดการณ์สถานการณ์ ประเมินช่องว่างในการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา ตลอดจนจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อเป็นการเพิ่มความเข้มข้นในการแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

     ดร.สมเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจากการเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้งแล้ว กอนช. ยังได้ประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ พบว่า เดือนพฤษภาคม มีพื้นที่เสี่ยงบริเวณภาคอีสานตอนล่างและบางส่วนของภาคกลางและภาคเหนือ เดือนมิถุนายนมีพื้นที่เสี่ยงบริเวณภาคเหนือ เดือนกรกฎาคมและสิงหาคมมีพื้นที่เสี่ยงบริเวณภาคเหนือและภาคตะวันตก  ซึ่ง กอนช. ได้ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ กำหนดมาตรการ 10 มาตรการเพื่อรองรับสถานการณ์ฤดูฝนปี 2564 ประกอบด้วย 1) คาดการณ์ชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง 2) การบริหารจัดการน้ำพื้นที่ลุ่มต่ำเพื่อรองรับน้ำหลาก

     3) ทบทวน ปรับปรุงเกณฑ์ การบริหารจัดการน้ำ ในแหล่งน้ำขนาดใหญ่ -กลาง และเขื่อนระบายน้ำ 4) ซ่อมแซม ปรับปรุงอาคารชลศาสตร์/ระบบระบายน้ำสถานีโทรมาตรให้พร้อมใช้งาน 5) ปรับปรุง แก้ไขสิ่งกีดขวางทางน้ำ 6) ขุดลอกคูคลองและกำจัดผักตบชวา 7) เตรียมพร้อม/วางแผนเครื่องจักร เครื่องมือประจำพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและฝนทิ้งช่วง 8) เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำและปรับปรุงวิธีการส่งน้ำ 9) สร้างการรับรู้และประชาสัมพันธ์ 10) ติดตามประเมินผล ปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย ซึ่งจากการเตรียมพร้อมตั้งแต่การคาดการณ์ การประเมิน ไปจนถึงการกำหนดมาตรการรองรับ กอนช. จึงมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564 เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนได้อย่างแน่นอน