ชาวบุรีรัมย์โล่งอกได้เลย เลขาฯสทยนช.ยันปลอดวิกฤติแล้งมีน้ำใช้ทั้งปี

  •  
  •  
  •  
  •  

ชาวบุรีรัมย์โล่งอกได้เลย เลขาฯสทนช.ปีนี้แล้งนี้ไม่มีซ้ำรอยปีก่อน มีน้ำใช้การได้มากกว่า 50% เผยน้ำใน สระน้ำเหมืองเก่า เทศบาลตำบลอิสาณ มีกว่า1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังไม่นำมาใช้แต่อย่างใด

      ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการที่ได้ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำและการบริหารจัดการน้ำเพื่อรับมือสถานการณ์ภัยแล้งและเตรียมการช่วงฤดูฝน ปี 2563/2564 ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ จ.บุรีรัมย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจากปริมาณฝนที่ตกน้อยต่อเนื่อง 2 ปี แต่จากการบริหารจัดการน้ำที่มีประสิทธิภาพในช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา ประกอบกับปริมาณฝนที่ตกมากในพื้นที่ ส่งผลให้สถานการณ์น้ำในจังหวัดบุรีรัมย์ช่วงฤดูแล้งนี้ไม่น่ากังวลมากนัก

      เนื่องจาก ปริมาณน้ำต้นทุนในแหล่งน้ำต่างๆ มีน้ำใช้การมากกว่าปีที่ผ่านมา เช่น “สระน้ำเหมืองเก่า” เทศบาลตำบลอิสาณ ปัจจุบันมีปริมาณน้ำ 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) จากขนาดความจุ 2.3 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งองค์การบริหารส่วนจังหวัดบุรีรัมย์ได้ดำเนินโครงการก่อสร้างผนังกั้นน้ำ ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมาสามารถช่วยดักน้ำที่ไหลจากเขากระโดงไปเก็บไว้ที่ “สระน้ำเหมืองเก่า” เพื่อเป็นแหล่งน้ำสำรองน้ำดิบผลิตน้ำประปาพื้นที่เมืองบุรีรัมย์กรณีมีวิกฤติภัยแล้ง ซึ่งฤดูแล้งนี้ยังไม่ได้นำน้ำจากเหมืองเก่ามาใช้ผลิตน้ำประปาแต่อย่างใด เนื่องจากอ่างเก็บน้ำห้วยจรเข้มาก ซึ่งเป็นแหล่งน้ำดิบหลักที่ใช้สนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภค–บริโภคของประชาชนจังหวัดบุรีรัมย์ มีปริมาณน้ำ 14.76 ล้าน ลบ.ม. จากปริมาณความจุเก็บกัก 26 ล้าน ลบม. คิดเป็น 57% ซึ่งถือว่ามีเพียงพอในการผลิตน้ำประปาเพื่อการอุปโภค-บริโภคและเขตเศรษฐกิจสำคัญในตัวเมืองบุรีรัมย์ในช่วงแล้งนี้ได้อย่างเพียงพอ

อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณน้ำอุปโภค-บริโภคจะไม่ขาดแคลน แต่ยังคงต้องจัดสรรน้ำเพื่อกิจกรรมการต่างๆตลอดทั้งฤดูและสำรองถึงต้นฤดูฝน จึงได้เน้นย้ำกรมชลประทานบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งให้เป็นไปตามแผนเนื่องจากสภาพน้ำต้นทุนมีจำกัด ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนปฏิบัติตามแผนอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยเฉพาะรณรงค์ไม่ให้มีการเพาะปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอีก เพื่อไม่ให้กระทบกับน้ำต้นทุน ซึ่งปัจจุบันพบว่ามีการเพาะปลูกแล้ว 3.2 หมื่นไร่ จากแผน 1.6 หมื่นไร่

     “สถานการณ์น้ำในพื้นที่บุรีรัมย์ช่วงฤดูแล้งปีนี้เบาใจได้ว่าไม่วิกฤติแน่นอน เนื่องจากมีการบริหารจัดการน้ำได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ ปริมาณน้ำใช้การได้ในแหล่งน้ำทุกขนาดความจุรวม 475 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำใช้การ   รวม 266 ล้าน ลบ.ม. หรือ 56% จากอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 1 แห่ง คือ อ่างเก็บน้ำลำนางรอง มีน้ำใช้การ 84 ล้าน ลบ.ม. หรือ 71% อ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 11 แห่ง น้ำใช้การรวม 102 ล้าน ลบ.ม. หรือ 66% ขนาดเล็ก 4,380 แห่ง ความจุรวม 202 ล้าน ลบ.ม. ปัจจุบันมีน้ำ 81 ล้าน ลบ.ม. หรือ 22% ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ที่ไม่มีแหล่งน้ำรองรับยังมีโครงการที่รัฐบาลจัดสรรงบกลางปี’63 ในการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็กป้องกันปัญหาภัยแล้งในจังหวัดบุรีรัมย์ทั้งสิ้น 490 โครงการ ดำเนินการแล้วเสร็จ 149 โครงการ “ ดร.สมเกียรติ กล่าว