ปลัดเกษตรฯ ชูแนวคิด “อีสาน Agri Challenge Model” ดันงานเกษตร 5 กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน

  •  
  •  
  •  
  •  

ปลัดเกษตรฯ ชูแนวคิด “อีสาน Agri Challenge Model” มุ่งขับเคลื่อนงานเกษตร 5 กลุ่มจังหวัดภาคอีสาน ให้เชื่อมโยงกับ 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์อย่างเป็นรูปธรรม

     ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมมอบแนวทางการขับเคลื่อนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมนำเสนอแนวคิด “อีสาน Agri Challenge Model” ณ ห้องประชุมสำนักงานชลประทานที่ 6 จังหวัดขอนแก่น ว่า การประชุมในวันนี้ มุ่งเน้นมอบแนวทางการขับเคลื่อนและติดตามงานตามนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้แก่เกษตรและสหกรณ์จังหวัด 5 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวมทั้งสิ้น 20 จังหวัด โดยเชื่อมโยงกับ 5 ยุทธศาสตร์ 15 นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน) ซึ่งนำมาปรับใช้ให้เหมาะสมในพื้นที่โดยมีการนำเสนอ “อีสาน Agri Challenge Model” โดยมีแนวทางการขับเคลื่อน ดังนี้

      1. “ตลาดนำการผลิต” โดยมุ่งสร้างความเข้มแข็งให้แก่สถาบันเกษตรกร และเศรษฐกิจฐานราก รวมทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการ start up และส่งเสริมระบบเกษตรพันธสัญญา 2. เทคโนโลยีเกษตร 4.0 โดยการพัฒนาศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และพัฒนาระบบโลจิสติกส์ด้านเกษตร 3. ยุทธศาสตร์ 3’S โดยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนา เพื่อตอบสนองการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศไทย 4. บริหารเชิงรุกแบบบูรณาการโมเดล “เกษตร-พาณิชย์ทันสมัย” โดยพัฒนาฐานข้อมูล Big Data และการประกันรายได้เกษตรกร และ 5. เกษตรกรรมยั่งยืน โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม การส่งเสริมศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) การประกันภัยพืชผลให้ความคุ้มครองความเสียหายหรือความสูญเสียต่อพืชผล และการส่งเสริมเกษตรกรรมยั่งยืน

     “วันนี้ได้เน้นย้ำแนวทางการดำเนินงานให้แก่เกษตรและสหกรณ์จังหวัด และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในระดับภูมิภาค เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจนโยบายสำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งล้วนแต่เป็นงานเร่งด่วนทั้งสิ้น รวมทั้งสามารถนำไปถ่ายทอดให้แก่เกษตรกรได้อย่างถูกต้อง ได้แก่ 1) โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 2) โครงการยกระดับแปลงใหญ่ด้วยเกษตรสมัยใหม่และเชื่อมโยงตลาด 3) การปฏิรูปการเกษตรมูลค่าสูง 4) โครงการ 1 ตำบล 1 กลุ่มเกษตรทฤษฎีใหม่ 5) การบริหารจัดการช่องทางการตลาดของผลไม้ในพื้นที่ 6) การขับเคลื่อนศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (AIC) และ 7) การขับเคลื่อน ศพก. อย่างเข้มแข็ง โดยมุ่งเน้นส่งเสริม Young smart Farmer  ทั้งนี้ได้มอบหมายให้ นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้แทนในการติดตามผลการดำเนินงานในภาคอีสาน รวมทั้งการรับฟังและแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในระดับพื้นที่ ควบคู่ไปกับผู้ตรวจราชการของกระทรวงเกษตรฯ เพื่อให้ขับเคลื่อนการปฏิบัติงานโครงการสำคัญต่าง ๆ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ” ปลัดเกษตรฯ กล่าว

     สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบด้านการส่งออกสินค้าเกษตรเพียงเล็กน้อย ซึ่งมาจากอุปสรรคด้านการขนส่งและแรงงาน ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับคุณภาพสินค้าเกษตรของไทย เนื่องจากทั่วโลกให้ความเชื่อมั่นในระบบการตรวจสอบความปลอดภัย การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร และคุณภาพของสินค้าเกษตร ซึ่งขณะนี้ มีแนวโน้มการส่งออกเพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปี 2563 ที่ผ่านมา ส่วนสถานการณ์น้ำในภาคอีสาน ได้เน้นย้ำให้บริหารจัดการน้ำตามแผนฯ ทั้งนี้ ขอยืนยันว่าจะมีน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภคเพียงพอแน่นอน

     ในโอกาสนี้ ปลัดเกษตรฯ ได้ลงพื้นที่ตรวจราชการเพื่อติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) พร้อมกับเกษตรและสหกรณ์จังหวัด 5 กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ณ ศพก.บ้านเนินตอ ตำบลบัวใหญ่ และศพก.หนองหารจาง ตำบลน้ำพอง จังหวัดขอนแก่นอีกด้วย