“ธรรมนัส” เดินสายแจก ส.ป.ก.4-01 ที่ จ.นครสวรรค์

  •  
  •  
  •  
  •  

“ธรรมนัส” เดินสายแจกเอกสารสิทธิ์ ส.ป.ก.4 – 01 ถึงคราวติวของเกษตรกรชาว จ.นครสวรรค์ หวังสร้างโอกาส  ความความเสมอภาคทางสังคม และพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมให้มั่งคง และยั่งยืน

      ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวระหว่างประธานพิธีมอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน (ส.ป.ก.4-01) อำเภอแม่วงก์ จังหวัดนครสวรรค์ ณ ศาลาประชาคมอำเภอแม่วงก์จังหวัดนครสวรรค์ ว่า กระทรวงเกษตรฯ โดย สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.)  มีหน้าที่ด้านจัดหาและจัดที่ดินทำกิน พัฒนาพื้นที่ พัฒนาอาชีพ และสนับสนุนเงินทุนการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม

     ในส่วนของ จ.นครสวรรค์ มีเนื้อที่ 1.12 ล้านไร่ เป็นพื้นที่เขตดำเนินการปฏิรูปที่ดินของรัฐ ซึ่งเป็นพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม พื้นที่สาธารณประโยชน์ และที่ราชพัสดุ (ในเขตหวงห้ามเพื่อประโยชน์แก่ทางราชการทหาร) 1.06 ล้านไร่ ครอบคลุม 13 อำเภอ 37 ตำบล ส.ป.ก.นครสวรรค์ได้จัดที่ดินประเภทเกษตรกรรมไปแล้ว จำนวน  39,203 ราย 52,345 แปลง เนื้อที่ 846,733 ไร่ และประเภทชุมชนไปแล้ว จำนวน 15,312 ราย 15,821 แปลง เนื้อที่ 9,132 ไร่ ในส่วนของอำเภอแม่วงก์ มีพื้นที่ดำเนินการในเขตปฏิรูปที่ดิน  284,859 ไร่มอบส.ป.ก. 4-01 ให้เกษตรกรไปแล้ว 268,979 ไร่

     “ในวันนี้มีความยินดีเป็นอย่าง ที่ได้มามอบหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินประเภทที่อยู่อาศัย (ส.ป.ก.4-01) ให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ จำนวน 236 ราย 239 แปลง เนื้อที่ 163.6 ไร่เมื่อเกษตรกรได้รับการอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้ว เกษตรกรจะได้รับโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม ได้มีที่ดินอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และอำนวยความสะดวกให้แก่เกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินในพื้นที่ห่างไกล จะได้ไม่ต้องเดินทางไปสำนักงานการปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งช่วยประหยัดเวลาและลดค่าใช้จ่ายแก่เกษตรกร” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว

       ทั้งนี้ จังหวัดนครสวรรค์ มีพื้นที่ประมาณ 9,598 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 5.948 ล้านไร่ แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 15 อำเภอ ประชากร 1.066 ล้านคน ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 95.51 พื้นที่ประกอบเกษตรกรรม4.495 ล้านไร่ พืชเศรษฐกิจที่สำคัญได้แก่ ข้าว อ้อยโรงงาน มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ลักษณะภูมิศาสตร์โดยทั่วไป ส่วนใหญ่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะแก่การเกษตร เป็นที่ราบประมาณ 3 ใน 4 ของพื้นที่จังหวัด มีแม่น้ำสายสำคัญคือแม่น้ำปิง แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านช่วงกลางของจังหวัด และมีเพียง 6 อำเภอที่ตั้งอยู่บนแม่น้ำสายหลัก