ดีเดย์ 1 เม.ย. พร้อมติดอาวุธให้ภาคประชาชน ตั้ง“องค์กรผู้ใช้น้ำ”ร่วมแก้วิกฤติน้ำของประเทศ       

  •  
  •  
  •  
  •  

                                                                              ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์

“สทนช.”จัดเสวนาสร้างการรับรู้การแจ้งเกิด“องค์กรผู้ใช้น้ำ” มิติใหม่แห่งพัฒนาและสร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ หวังยื่นดาบให้ประชาชนร่วมจัดการวิกฤติน้ำในพื้นที่ พร้อมระดมความคิดเห็นตัวแทนผู้ใช้น้ำ 3 ฝ่าย รับมือการขึ้นจดทะเบียนตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำดีเดย์ 1 เม.ย. 64 นี้  

     ดร.สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า “องค์กรผู้ใช้น้ำ” เกิดขึ้น ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ถือเป็นกลไกลใหม่ในประวัติศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ  ที่ให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ ดังนั้น กิจกรรมครั้งนี้จึงมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ความรู้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะตัวแทนผู้ใช้น้ำ 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ภาคเกษตรกรรม ภาคพาณิชยกรรม และภาคอุตสาหกรรม ได้ตระหนักถึงบทบาทและความความสำคัญขององค์กรผู้ใช้น้ำ ในการสร้างการมีส่วนร่วมบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในมิติใหม่ในอนาคต รวมทั้งเตรียมความพร้อมในการจดทะเบียนจัดตั้งกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้งคุณสมบัติผู้ที่จะเข้าร่วมเป็นองค์ผู้ใช้น้ำ ขั้นตอนกระบวนการและวิธีการต่างๆ ในการยื่นขอรับรองความเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำ ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศขึ้นทะเบียนได้ในวันที่ 1 เมษายน 2564 นี้ 

     สำหรับบทบาทที่สำคัญขององค์กรผู้ใช้น้ำ นอกจากเพื่อดำเนินการเกี่ยวกับการใช้ การพัฒนา การบริหารจัดการ การบำรุงรักษา การฟื้นฟู และการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในหมู่สมาชิกร่วมกันแล้ว ยังสามารถเข้ารับการคัดเลือกเป็นกรรมการลุ่มน้ำในเขตลุ่มน้ำของตนได้ ซึ่งลุ่มน้ำหนึ่งๆ มีจำนวน 9 คน แบ่งเป็น ภาคเกษตรกรรม 3 คน ภาคอุตสาหกรรม 3 คน และภาคพาณิชยกรรม 3 คน โดยกรรมการลุ่มน้ำผู้แทนองค์กรผู้ใช้น้ำเหล่านั้น ยังมีสิทธิได้รับการคัดเลือกไปเป็นกรรมการผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำในคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้อีกด้วย รวมทั้งสิ้นจำนวน 4 คน             เพื่อเสนอแนะ ให้ข้อมูลหรือความคิดเห็นต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อนำมาใช้ในการบริหารทรัพยากรน้ำในเขตลุ่มน้ำของตนเอง ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่ลุ่มน้ำใหม่เป็น 22 ลุ่มน้ำหลัก และ 353 ลุ่มน้ำสาขา   

     ดังนั้น “องค์กรผู้ใช้น้ำ” จะเป็นกลไกสำคัญที่รัฐบาลมุ่งหวังไปสู่การยกระดับในการสร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่จะเข้ามามีสิทธิ์มีเสียงและร่วมแก้ไขปัญหาน้ำท่วม-น้ำแล้ง รวมถึงการบริหารจัดการน้ำในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมี สทนช. ทำหน้าที่เป็นหน่วยหลักในการขับเคลื่อนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในระดับลุ่มน้ำให้สามารถจัดสรรน้ำได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และเป็นธรรม” นายสมเกียรติ กล่าว

     “แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีการจัดตั้งองค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำขึ้นมาบ้างแล้วโดยหลายหน่วยงาน แต่ถือว่ายังไม่ได้อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 ดังนั้น องค์กรหรือกลุ่มผู้ใช้น้ำของหน่วยงานที่มีอยู่เดิมตามภารกิจ     จะต้องมายื่นขอก่อตั้งเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตามพระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 เพื่อประโยชน์ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำทั้งระบบ โดยกำหนดให้กลุ่มบุคคลหรือนิติบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่รวมตัวกันจำนวนไม่น้อยกว่า 30 ราย ต้องตั้งตัวแทนไปยื่นคำขอจดทะเบียนก่อตั้งองค์ผู้ใช้น้ำต่อสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ในฐานะนายทะเบียน ผ่าน 3 ช่องทางทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ทั้งทางระบบออนไลน์ และยื่นเอกสารด้วยตนเอง ได้แก่ 1.ทางเว็บไซต์ twuo.onwr.go.th 2.สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ อาคารจุฑามาศ ถ.วิภาวดีรังสิต กรุงเทพฯ และ 3.สำนักงานของ สทนช. ภาค 1- 4 ได้แก่ จ.ลำปาง จ.สระบุรี จ.ขอนแก่น และ จ.สุราษฎร์ธานี โดยมีกระบวนการตรวจสอบเอกสารข้อมูลประมาณ 30 วัน หากถูกต้องครบถ้วน จะเข้าสู่กระบวนการออกเอกสารรับรองว่าเป็นองค์กรผู้ใช้น้ำตาม พรบ.ทรัพยากรน้ำต่อไป” ดร.สมเกียรติ กล่าว